ลิง ( Ape) ในคริสตศิลป์ ลิงเป็นสัญลักษณ์ของบาป ความมุ่งร้าย ความคด และตัณหาราคะรวมทั้งความเฉื่อยชาของมนุษย์ ได้แก่ ความมืดบอดทางปัญญา ความโลภ และความชั่วร้าย
ลา (Ass) มักปรากฏในจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ในภาพ “การสังเวยไอแซก” การประสูติ การหนีไปอียิปต์ และการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมของพระคริสต์ รูปลาเห็นบ่อยสุดในฉากตอนพระเยซูประสูติ ลาและวัวคือสัญลักษณ์ว่า แม้แต่สัตว์ที่ต่ำต้อยที่สุดที่พระเจ้าทรงสร้าง ก็ยังมาชุมนุมกันในวาระนี้และจำได้ว่าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้า
บาซิลิสก์ (Basilik) เป็นสัตว์ครึ่งไก่ครึ่งงูในเทพนิยาย ตามตำนาน บาซิลิสก์สามารถฆ่าสัตว์อื่นๆได้ด้วยการเหลือบมองเท่านั้น โดยสัตว์ตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของพญามารหรือผู้ที่ต่อต้านพระคริสต์ พบเห็นในศิลปะสมัยกลาง แต่ไม่ค่อยพบเห็นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี
หมี (Bear) เป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย จึงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเหี้ยมโหดและอิทธิพลชั่วร้ายใน ภาคพันธสัญญาเดิม หมีเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรเปอร์เชีย ซึ่งนำความชั่วร้ายและความตายมาสู่โลกและสุดท้ายต้องถูกพระเจ้าทำลาย
ผึ้ง (Bee) เป็นสัญลักษณ์ของความกระฉับกระเฉง ความขยันขันแข็ง การทำงานและความเป็นระเบียบ รวมทั้งรสหวานแห่งพระธรรมและคำพูดที่โน้มน้าวจิตใจของศาสนา ผึ้งงานที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์ให้แก่รวงรังของมัน ยังใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพรหมจรรย์ของแม่พระด้วย
นก (Bird) ในยุคแรกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ “จิตวิญญาณซึ่งมีปีกโบยบิน” นกทุกชนิดเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณ อันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับวัตถุ โดยสัญลักษณ์นี้ย้อนไปถึงศิลปะอียิปต์
นกดำ (Blackbird) สัญลักษณ์ของบาปมืดมนและการลวงล่อมนุษย์ไปสู่กิเลสตัณหา
วัวตัวผู้ (Bull) สัญลักษณ์แห่งพลังอำมหิตอยู่คู่กับนักบุญ เช่น หมอบอยู่ที่ปลายเท้าของนักบุญซิลเวสเตอร์
ผีเสื้อ (ฺButterfly) พบได้ในภาพ แม่พระกับพระกุมาร (Virgin and Child) โดยมักเกาะอยู่ที่พระหัตถ์ของพระกุมารเยซู เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นคืนชีพของมวลมนุษย์ โดยพัฒนาการสามขั้นตอนของผีเสื้อ ได้แก่ จากหนอนกลายเป็นดักแด้ แล้วจึงกลายเป็นผีเสื้อ พัฒนาการสามขั้นตอนดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรแห่งชีวิตอย่างชัดเจนได้แก่ ชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพ
อูฐ (Camel) สัญลักษณ์แห่งความอดกลั้น และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นกษัตริย์และอำนาจราชศักดิ์ด้วย ด้วยเหตุนี้ศิลปินจึงมักเขียนอาภรณ์ประดับอูฐอย่างหรูหรา ศิลปินในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามักเขียนอูฐไว้ในภาพ เพื่อสร้างฉากตะวันออกตามท้องเรื่อง
แมว (Cat) สัญลักษณ์แห่งความเกียจคร้านและตัณหาราคะตามนิสัยของมัน มีตำนานเกี่ยวกับ “แมวของแม่พระ” เล่าว่า เมื่อตอนที่พระคริสต์ประสูติในคอกสัตว์ แมวตัวหนึ่งก็คลอดลูกในคอกเดียวกัน แมวดังกล่าวมักมีเครื่องหมายกางเขนบนหลัง
เซนทอร์ (Centaur) เป็นสัตว์ปรัมปรา ลำตัวท่อนล่างเป็นม้า ส่วนหัวและลำตัวท่อนบนเป็นคน เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ดิบและความมักมาก โดยเฉพาะความมักมากในกามที่ทำให้ผิดประเวณี เป็นตัวแทนของพละกำลังอันป่าเถื่อนและการแก้แค้น เป็นสัญลักษณ์ของพวกนอกรีตและการต่อสู้ระหว่างจิตสำนึกฝ่ายดีกับฝ่ายชั่วของมนุษย์
ไก่ (Cock) สัญลักษณ์ของความระแวดระวัง ความรอบคอบ และการจับดูความชั่วร้าย
นกกระเรียน (Crane) สัญลักษณ์ของความระแวดระวัง ความจงรักภักดี สัมมาชีพ และความเป็นระเบียบของชีวิต
สุนัข (Dog) สัญลักษณ์ของคุณธรรม ซื่อสัตย์ เช่น เรื่องของสุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ สุนัขของโทเบียส และสุนัขของนักบุญรอซ ที่ไปหาขนมปังมาให้ และไม่ยอมทิ้งท่านไปขณะที่ท่านใกล้ตายด้วยกาฬโรค นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ในชีวิตสมรส ในงานศิลปะ สุนัขมักปรากฏอยู่ที่ปลายเท้าหรือบนตักของหญิงที่แต่งงานแล้ว
ปลาโลมา (Dolphin) เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นคืนชีพและการรอดพ้นจากบาป ศิลปินนิยมวาดภาพปลาโลมาบรรทุกดวงวิญญาณของผู้ตายไว้บนหลังพาข้ามน้ำไปสู่ภพหน้า
นกพิราบ (Dove) สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์และสันติภาพ ในเรื่องน้ำท่วมโลกนกพิราบที่โนอาห์ส่งไปสืบข่าวกลับมาที่เรือพร้อมกิ่งมะกอกเทศแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำลดลงแล้วและพระเจ้าทรงหายกริ้วโกรธมนุษย์
มังกร หรือ งู (Dragon; Serpent) สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามักเลือกมังกรหรืองูเป็นสัญลักษณ์ของพญามาร ให้ภาพมังกรเป็นศัตรูของพระเจ้า เป็นซาตาน สำหรับ “งู” เป็นสัญลักษณ์ของซาตานหรือ พญามาร มักปรากฏในภาพที่กำลังหลอกให้อาดัมกับอีฟ กินผลไม้ต้องห้ามในสวนสวรรค์อีเด็น งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่หรือสิ่งที่ล่อใจมนุษย์ให้ทำบาปด้วย ส่วนงูตรงฐานไม้กางเขนใช้ตรึงพระคริสต์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าอำนาจแห่งความชั่วร้ายซึ่งนำมนุษย์ไปสู่ความวิบัติต้องแพ้อำนาจของพระคริสต์ ผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์
นกอินทรี (Eagle) สัญลักษณ์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ เป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตใหม่ของพระคริสต์ ความเอื้อเฟื้อเมตตาธรรม
เหยี่ยว (Falcon) ในแง่ของสัญลักษณ์ทางศาสนา เหยี่ยวมีสองประเภทคือเหยี่ยวป่า กับเหยี่ยวบ้าน เหยี่ยวป่าแทนการกระทำหรือความคิดอันชั่วช้า ในขณะที่เหยี่ยวบ้านเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงศีล
ปลา (Fish) ปลาใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ในวรรณคดีและคริสตศิลป์สมัยแรก สัญลักษณ์ของการรับศีลล้างบาป ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ปลาเป็นเครื่องหมายของโทเบียส เพราะนำ้ดีปลาช่วยให้สายตาของโทบิตบิดาของโทเบียสดีดังเดิม
แมลงวัน (Fly) เป็นสัญลักษณ์ของบาป มักปรากฏในภาพ แม่พระกับพระกุมาร เพื่อสื่อถึงความคิดเรื่องบาปและการไถ่บาป
หมาจิ้งจอก (Fox) สัญลักษณ์แห่งความเจ้าเล่ห์แสนกล ความหลอกลวง และพญามาร พบในงานศิลปะประติมากรรมสมัยกลาง แต่ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามักพบในภาพประกอบหนังสือ
กบ (Frog) สัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย พวกนอกรีต ความน่าขยะแขยงของบาป สัญลักษณ์ของผู้ที่พยายามหาความสุขอันไม่จีรัง สัญลักษณ์ของวัตถุทางโลก
ยีราฟ (Giraffe) สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ยีราฟเป็นสัตว์แปลกประหลาดและหายากในยุโรปมากกว่าเพื่อสื่อสัญลักษณ์
แพะ (Goat) เป็นสัญลักษณ์ของการแยกคนบาปจากผู้ชอบธรรม
นกโกลด์ฟินช์ (Goldfinch) มักวาดให้อยู่ในภาพพระกุมารเยซู แสดงให้เห็นว่ามาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสต์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของพระทรมาน
ห่าน (Goose) สัญลักษณ์ความรอบคอบและพระกรุณา มาตั้งแต่สมัยโรมัน ในคริสตศิลป์ ห่านเป็นเครื่องหมายของนักบุญมาร์ตินแห่งเมืองตูรส์
ตั๊กแตน (Grasshopper ; Locust) เป็นสัตว์ที่นำภัยพิบัติมาสู่อียิปต์ เนื่องจากฟาโรห์ทรงมีนำ้พระทัยแข็งกระด้าง ไม่ทรงฟังพระวจนะตั๊กแตนของพระหัตถกุมาร
กริฟฟิน (Griffin) เป็นสัตว์ในเทพนิยาย มีหัวและปีกเหมือนนกอินทรี ลำตัวเป็นสิงโต กริฟฟินจึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของสองสิ่งที่แตกต่างขัดแย้งกัน คือ ด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหาไถ่ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านและเข่นฆ่าชาวคริสต์
กระต่าย (Hare; Rabbit) สัญลักษณ์ของมนุษย์ผู้หวังจะรอดพ้นจากบาปไว้กับพระคริสต์ สัญลักษณ์ของตัณหาราคะ แพร่พันธุ์รวดเร็ว
หมู (Hog) สัญลักษณ์ของความมักมากในกามารมณ์ ความตะกละ และความละโมบ
เสือดาว (Leopard) สัญลักษณ์แห่งบาป ความโหดเหี้ยม พญามาร และผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์
สิงโต (Lion) ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา สิงโตมีความหมายหลายอย่าง อยู่ที่นำไปใช้กับวาระใด เป็นสัญลักษณ์แห่งพลัง ความเป็นกษัตริย์ ความกล้าหาญ และความแข็งแกร่ง มักจะเกี่ยวข้องกัยการฟื้นคืนพระชนม์และเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งชีวิต
นกฮูก (Owl) สัญลักษณ์ของซาตาน ความมืด อีกแง่หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสันโดษจึงปรากฏในภาพนักพรตกำลังสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ที่อุทิศเพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากบาป
วัว (Ox) ภาพเขียนในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามักใช้ภาพวัวเป็นภาพของชนชาติยิว เนื่องจากยิวใช้เป็นเครื่องบัตรพลี เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและพละกำลัง
นกยูง (Peacock) เป็นสัญลักษณ์ความอมตะ ที่มาจากตำนานที่ว่านกยูงไม่มีวันเน่าเปื่อย บางครั้งเป็นสัญลักษณ์ของความเย่อหยิ่งและความหลงตัวไร้แก่นสาร
ยูนิคอร์น (Unicorn) ตามเรื่องปรัมปรา เป็นสัตว์เล็กพอๆกับลูกแกะ แต่ดุร้ายและว่องไว เชื่อกันว่าไม่มีนักล่าสัตว์จับได้ด้วยกำลัง ต้องใช้อุบายด้วยการทิ้งสาวพรหมจารีไว้ลำพัง แล้วยูนิคอร์นก็จะมาซบที่ตักแล้วหลับจึงจะสามารถจับมันได้ ยูนิคอร์นจึงเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์โดยเฉพาะความบริสุทธิ์ของสาวพรหมจารี
ดอกไม้ ดอกแพนซี (Pansy) เป็นสัญลักษณ์แห่งความระลึกถึง และการใคร่ครวญ ไม่ค่อยพบในงานศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
เชสต์นัต (Chestnut) เป็นสัญลักษณ์ของพรหมจรรย์ เพราะคุณธรรมข้อนี้มีชัยต่อความเย้ายวนแห่งเนื้อหนัง ซึ่งใช้หนามแหลมของลูกเชสต์นัตเป็นสัญลักษณ์
ก้อนหิน (Stone) สัญลักษณ์ของความมั่นคง เป็นเครื่องหมายของนักบุญสตีเฟน ผู้ซึ่งถูกขว้างปาด้วยก้อนหินจนตาย หรือเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้า โดยมีที่มาจากเรื่องที่โมเสสเอาไม้เท้าฟาดหิน แล้วมีน้ำไหลรินออกมาจากก้อนหินให้คนของท่านได้ดื่มกิน
เวลา (Time) ในศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา บิดาแห่งกาลเวลา (Father Time) เป็นรูปชายเปลือยติดปีก เครื่องหมายของบิดาแห่งกาลเวลาที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ เคียวและมีดดายหญ้าซึ่งมีลักษณะเหมือนเคียวด้ามยาว บ้างก็ใช้นาฬิกาทราย งู หรือมังกรกำลังกินหางตัวเอง และรูปจักรราศี
บ่อน้ำ (Well) บ่อน้ำหรือน้ำพุ สัญลักษณ์ของพิธีรับศีลบาป ชีวิต และการเกิดใหม่
ปีก (Wings) สัญลักษณ์ของหน้าที่ในการรับใช้พระเจ้า ศิลปินมักเขียนปีกให้เหล่าเทวฑูต
สภาพเปลือยเปล่า (Nudity) เป็นสัญลักษณ์เพื่อสอนศาสนาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา คือ
การเปลือยตามธรรมชาติ (Nuditas naturalis) คือสภาพมนุษย์แรกเกิด เพราะเราไม่ได้นำอะไรติดตัวมาในโลกนี้ และเราก็มิได้นำอะไรติดตัวไปด้วยเช่นกัน
การเปลือยทางโลก (Nuditas temporalis) การขาดแคลนสมบัติทางโลก บ้างเกิดจากวิบากกรรม และการสมัครใจเพื่อสละสมบัติทางโลกเพื่อรับใช้พระองค์อย่างสมบูรณ์
การเปลือยให้แก่คุณธรรม (Nuditas virtualis) เปลือยแบบนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ใช้แทนผู้ที่ผ่านชีวิตมาแต่ไม่ยอมแพ้แก่ความชั่วร้ายและสิ่งเย้ายวนใจรอบข้าง เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม
ความเปลือยให้แก่ความชั่ว (Nuditas criminalis) เป็นการเปลือยที่ตรงข้ามกับการเปลือยให้แก่คุณธรรม เป็นสัญลักษณ์แห่งตัณหาราคะ ความไร้แก่นสาร และการขาดคุณธรรมทุกข้อ ความแตกต่างทั้งสองข้อนี้คือ การแสวงหาความสุขนิรันดร์กับการแสวงหาความสุขอันไม่จีรัง มักจะเปรียบเทียบกับสิ่งสมมติ เครื่องประดับอาภรณ์ กับการเปลือยเปล่าที่ไม่ยึดติดกับสิ่งที่ไม่จีรัง
โครงกระดูก (Skeleton) โครงกระดูมนุษย์เป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย มักมีมีดดายหญ้าอยู่ในมือหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของการตัดทอนชีวิตให้สิ้นลง ส่วนอีกมือถือนาฬิกาทราย เป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาซึ่งผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว
หัวกระโหลก (Skull) เป็นสัญลักษณ์ของความไม่จีรัง ไร้แก่นสารของวัตถุทางโลก ความตาย
สีดำ (Black) เป็นสัญลักษณ์ของความตายและยมโลกที่ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล ในสมัยกลาง สีดำมีความสัมพันธ์กับศาสตร์ของพวกแม่มด หรือ ศาสตร์มืด (Black Art)
สีน้ำเงิน (Blue) สัญลักษณ์ของสวรรค์และความรักแห่งสรวงสวรรค์ สีแห่งสัจธรรม ภาพเขียนพระคริสต์ขณะปฏิบัติกิจในโลกมนุษย์มักทรงเสื้อคลุมสีน้ำเงิน ศาสนจักรถือว่าสีน้ำเงินเป็นสีประจำตัวแม่พระ
สีน้ำตาล (Brown) สีแห่งความตายทางจิตวิญญาณและความเสื่อมทราม
สีเขียว (Green) สีของพรรณพฤกษา สัญลักษณ์ของชัยชนะที่ฤดูใบไม้ผลิมีต่อฤดูหนาว ชัยชนะของชีวิตต่อความตาย เป็นสีผสมระหว่างสีเหลืองกับสีน้ำเงิน จึงสื่อความหมายของความเมตตา และการเกิดใหม่ของจิตวิญญาณ
สีแดง (Red) สีแห่งพระโลหิต สัญลักษณ์ของความรักและความเกลียดชัง ชาวโรมันถือว่าสีแดงแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ ซึี่งทางคริสต์ใช้สีแดงกับเครื่องแต่งกายของพระคาร์ดินัล
ทำไมในงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร จึงต้องเป็นศิลปะเรอเนซองส์ Renaissance Art
ภาพจิตรกรรมในสมัยเรอเนซองส์ ในศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งเป็นภาพที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ด้วยสายตาการมองแห่งยุคสมัย (period eye) ซึ่งแตกต่างจากการมองในยุคศตวรรษที่ 20-21 ในฐานะเป็นงานศิลปะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้ถูกประเมินค่าด้านความงามเพียงอย่างเดียว แต่ถูกมองว่าเป็นการเลือกสรรภาพสัญลักษณ์ (iconography) อย่างพิถีพิถัน ทั้งทางโลกและศาสนา
เรอเนซองส์ ไม่เพียงแต่จำกัดเฉพาะ “ศิลปะ” คำดังกล่าวมีความหมายตามตัวอักษรว่า “การเกิดใหม่” (rebirth) มักถูกเชื่อมโยงกับการฟื้นฟูและนวัตกรรมในหลายลักษณะ เช่น ดนตรี วรรณกรรม คำนี้สืบค้นไปยังอิตาลีสมัยศตวรรษที่ 14 พร้อมกับการเกิดขึ้นของลัทธิมนุษยนิยม (humanism) ซึ่งเป็นการกลับไปหาความรู้ในยุคคลาสิกสมัยกรีกและโรมัน การฟื้นฟูภาษาและขนบทางปัญญาของอารยธรรมที่สูญหาย เพื่อแยกออกจากศิลปะยุคกลาง (Medieval) ที่กลายเป็นอดีต ซึ่งต้องการให้เห็นการเชิดชูมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด
การเกิดใหม่ตามแนวทางของศิลปะเรอเนซองส์ ก็อาจจะดูราวกับชีวิตของศิลปิน หม่อมเจ้ามารศี ที่ได้เลือกใช้ชีวิตของตนเองเสมือนกับการเกิดใหม่ในแบบที่ตนกำหนด
อ้างอิง
จอร์จ เฟอร์กูสัน. เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์. กุลวดี มกราภิรมย์.แปล. พิมพ์ครั้งที่7. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.2556. จอห์นสัน, เจอรัลดีน เอ. ศิลปะเรอเนซองส์ ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์.2557.
ภาพประกอบจาก Facebook page : Marsi
Facebook/Naraphat Sakarthornsap
Commentaires