top of page
รูปภาพนักเขียนsupachai areerungruang

บทวิจารณ์โครงการ EYP 2020 Early Year Project 2563

ระบบการศึกษาทางศิลปะของประเทศไทยเดินทางมามากกว่า ๑ ศตวรรษ มีรายชื่อของศิลปินและผลงานสร้างสรรค์มากมายหลายกลุ่มประเภท ตั้งแต่ภาพวาดติดผนังเพื่อชื่นชมผ่านสายตาเพียงอย่างเดียว จนถึงผลงานศิลปะที่คนดูงานศิลปะสามารถเข้าไปร่วมทำ หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพร้อมกับศิลปิน บ้างเน้นทักษะฝีมือที่มีความซับซ้อนผ่านการฝึกฝนจนยากที่จะเทียบเทียม ไปจนถึงผลงานที่สร้างความงุงงงสับสนในการเข้าถึงด้วยการหาความหมายของผลงานว่ามันคืออะไรแต่มีแนวคิดอันทรงพลัง หรือแม้แต่ผลงานที่พยายามยึดโยงประวัติศาสตร์เล่าเป็นฉากเป็นตอนจนกลบความสำคัญของตัวงาน สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะในประเทศไทย เปรียบเสมือนรายการอาหารอันหลากรสสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ในเวที EYP ได้เลือกใช้ให้เหมาะกับตนเองเพื่อสร้างความโดดเด่น เน้นความต่างกับคนอื่นๆ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่หมุดหมายปลายทางของโครงการ ซึ่งผลงานที่ผ่านมาของโครงการก็ทำให้เราเห็นว่ามาไกลมากจากจุดเริ่มต้นของการศึกษาศิลปะในบ้านเรา เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการรับรู้ของคนคนในสังคมต่อวงการศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน

ในแต่ละปีของโครงการนี้ได้ส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ให้เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพในชีวิตจริง ปีนี้โครงการได้คัดเลือกผลงานของ สุชน สุจิต ในผลงานชื่อ Mainstay of Three Times / The Pillar Monument และ ผลงานของ อวิกา สมัครสมาน ในผลงานชื่อ Social Weaving, An artistic research project ในมุมมองผมได้ให้ความสนใจกับประเด็นการพัฒนาผลงานท่ามกลางวิกฤตที่คาดไม่ได้เลยของสถานการณ์ COVID-19 ที่เข้ามาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานตลอดโครงการ ซึ่งศิลปินผู้เข้ารอบทุกคนล้วนมองประเด็นสังคมเป็นแกนหลัก และให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเป็นแกนรอง แต่แน่นอนว่ากระบวนการและผลงานต้องมีความแตกต่างไปตามอัตลักษณ์ของตัวศิลปิน


สุชน สุจิต ได้ตีความปรากฏการณ์ของคนในสังคมไทยกับการควบคุมอารมณ์โกรธ ความรุนแรงโดยเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉานด้วยการนำกระดูกสันหลังมาเป็นสัญลักษณ์ต่อการรับรู้ว่า คนอย่างเราหรือไม่ที่เป็นดั่งสัตว์เดรัจฉานในยามอารมณ์โมหะเข้าครอบงำ งานของเขามีโครงสร้างสำคัญคือทักษะด้านประติมากรรมแบบศิลปะวิทยาซึ่งมีความแตกต่างจากผู้เข้ารอบคนอื่นๆที่ใช้สื่อศิลปะหลากหลายคล้ายจะสร้างให้ดูใหม่แต่กลับให้เห็นความอ่อนไหวต่อความตั้งใจของตนเอง ท่ามกลางโลกศิลปะที่ดูเหมือนว่าอะไรก็ได้ในรอบตัวที่ศิลปินนำมาคั่วให้เป็นงานศิลปะก็ได้ หลังจากนั้นจึงฉาบเคลือบความคิดให้ล่องลอยเพื่อทำให้คนดูคล้อยตาม ด้วยความต่างนี้เองจึงทำให้ความเป็นตัวเองของสุชนในด้านความแน่วแน่แก้ไขต่อปัญหาที่สร้างข้อจำกัดของการทำงานศิลปะในครั้งนี้ด้วยการค้นหาวิธีสื่อสารความคิดที่แยบยลในงานประติมากรรม สร้างการรับรู้แบบตรงไปตรงมา แต่ทว่าทำให้เกิดความรู้สึกถูกชี้ชวนให้เห็นมิติที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเรา กับรูปลักษณ์ของโครงกระดูก ซึ่งมักถูกนำมาแทนค่ากับความตาย แต่กลายเป็นว่าเขาได้ใช้เป็นสัญญะของการเปรียบเทียบระหว่างความเป็นมนุษย์กับเดรัจฉาน นั่นแสดงให้เห็นการตีความที่แตกต่างจากสัญญะที่คุ้นชินของคนทั่วไป และด้วยทักษะทางศิลปะของเขาเองทำให้เราเกิดคำถามที่ท้าทายว่าการทำงานศิลปะในยุคดิจิทัลนั้น ทักษะในตัวศิลปินยังคงความจำเป็นและมีความสำคัญอยู่หรือไม่









อวิกา สมัครสมาน เป็นตัวแทนของโลกศิลปะแบบสหวิทยาการ ด้วยพื้นฐานการศึกษามาทางด้านการออกแบบงานผ้า แต่กลับกล้าข้ามแดนมาในการทำงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ด้วยความคิดที่ไม่ปิดกั้นให้ตนเองอยู่ในโลกของสิ่งทอ หากตัวเธอเองกลับเห็นศักยภาพของการสร้างสรรค์งานทอได้ล่อลวงให้ผู้ชมสนใจต่อกระบวนการสร้างสรรค์ ด้วยการเข้ามาร่วมกันสอดสานเส้นสายลายทอให้เกิดความงาม มาตั้งแต่งานทดลองจากการใช้ร่างการของคนสองคนยึดโยงเส้นด้ายให้ตึง มิฉะนั้นการทอก็ไม่อาจสำเร็จลงได้ มาจนถึงงานทดลองในโครงการนี้ ด้วยการมองเห็นเครื่องออกกำลังกายในชุมชนที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่สาธารณะ อันเป็นภาระต่อสังคมในการจัดการให้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้านสุขภาพร่างกาย จากสองสิ่งนี้ได้ทำให้อวิกา ไดใช้เป็นแนวคิดผสมผสานผ่านงานของเธอให้ประจักษ์ว่า ความแตกต่างทางกายภาพแต่กลับเชื่อมโยงได้ด้วยความหมายแฝงเร้นที่ซ่อนอยู่ในตัวมันเอง นับว่าเป็นความพยายามทดลองที่มองเห็นอนาคตของผลงานที่ยังแตกหน่อออกไปได้อีก แต่สิ่งหนึ่งที่คงเป็นผลลัพท์ของการทดลองของเธอก็คือ การมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผลิตผลงานด้วยตัวเธอเอง และการแก้ปัญหาการสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการตลอดระยะเวลาของการร่วมโครงการ

ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Komentāri


bottom of page