พื้นที่ทางศิลปะ พื้นที่ทางเสรี (ไม่) มีอยู่จริง ในเทศการศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลื่อม มาบ มาบ #1 ศิลปะชุมชน ผู้คนมีส่วนร่วม : บทวิจารณ์ทัศนศิลป์
ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
จากกรณีมีการทาสีทับผลงานของ ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ในชื่อผลงาน คนพลัดถิ่น ซึ่งการที่ผลงานศิลปะได้จัดแสดงในพื้นที่ทางศิลปะ (พื้นที่ทางเลือกใหม่) แล้วยังถูกลบทิ้ง ผมว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเทศกาลศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี ได้ประกาศตนเองอย่างท้าทาย ต่อระบบทุน สังคม และสะท้อนให้เราได้เห็นว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์เพื่อแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม ชุมชน การเมือง วัฒนธรรม และสะท้อน ปฏิบัติการที่เกิดจากการกระทำ (fact) ของผู้คนในสังคม (จากรายละเอียดของโครงการและเหตุผล) แต่ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็ทำได้แต่เพียงรองรับระบบทุน และเป็นพื้นที่พร่ำบ่นและความบันเทิงเพียงเท่านั้นหรือไม่
การตรวจสอบ การควบคุม หรือจะเรียกว่าการเซนเซอร์ Censorship ในสังคมยุคสมัยแบบ คสช. ตั้งแต่22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน 2561 แน่นอนว่าศิลปินจำเป็นต้องมีวิธีคิดในเรื่องการเซนเซอร์ตัวเองเป็นสำคัญ ศิลปินสาขาทัศนศิลป์แสดงออกด้วยสื่อที่มองเห็นจับต้องได้ แล้วคงอยู่ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ศิลปินจึงจำเป็นต้องสร้างความจริงภายใต้ความลวงลับอำพราง เสมือนราวประหนึ่งฆาตกรพรางกลบเศษซากการกระทำของตนภายใต้วัตถุที่แปรเปลี่ยน บิดเบือนมุมมองไปตามสภาวะแวดล้อมเพื่อไม่ให้มีคนได้เห็นความจริงจากตะกอนความคิดของตน แล้วศิลปินเหล่านั้นก็ออกมาพร่ำบ่น สบถวาจาด้วยมูลเหตุแห่งทฤษฎีตะวันตกที่หยิบยกมาแต่หนังกำพร้า ราวกับเนื้อย่างเกาหลีราคาถูก แต่ก็ไม่กล้าที่จะแสดงออกจากเนื้อแท้ของประสบการณ์ตนในแผ่นดินนี้ให้คนได้รับรู้ความจริง จากนิทรรศการหลายๆงาน ผมก็เห็นตั้งคำถามกันจังนะครับ แต่ก็ไม่เห็นคำตอบที่ศิลปินจะบอกอะไรกับสังคมกันแน่
หากการลบกลบเกลื่อนงานที่แสดงออกตามดั่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ก็เท่ากับว่า งานนี้คงยังไม่สามารถไปถึงจุดหมายดั่งที่ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้งานศิลปะได้เปล่งแสง ส่องให้เห็นแต่ไกล ได้ส่งสื่อ นำเสนอ ป่าวประกาศถึงเรื่องราวชีวิต การต่อสู้และปัญหาของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากอำนาจการพัฒนาในบริบทต่างๆของสังคม
Commentaires