ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
ศิลปะไทย: ฤาปลายทางแค่พุทธศิลป์
ในความเคลื่อนไหวของศิลปะไทยร่วมสมัยช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้นมีงานเขียนวิจารณ์ที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งเป็นบทความของ ไมเคิล ไรท ชื่อบทความ “แสงสว่างท่ามกลางความมืด จิตรกรรมในประเทศไทยทุกวันนี้” อยู่ในสูจิบัตรประกอบการแสดงงานศิลปะบัวหลวงระบายสี ประมวลภาพรางวัลจิตรกรรม ครั้งที่ 1-19 ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2539 ถึงแม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้ว แต่บทความนี้ยังคงร่วมสมัยสอดคล้องกับงานเขียนชิ้นนี้ของเขาเอง ซึ่งในบทความนี้ยังได้มีการวิจารณ์บทความโดย ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ในหนังสือพลังการวิจารณ์ทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2547 (ซึ่งประเด็นสำคัญในงานของ ไมเคิล ไรท ชิ้นนี้เปรียบเสมือนการประมวลภาพการเริ่มต้น พัฒนาการของศิลปะไทยร่วมสมัยในด้านจิตรกรรมในประเทศไทยนับแต่เริ่มมีการปรับความคิดของผู้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยในช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ซึ่งในการปรับความคิดของช่างหรือของศิลปินตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น การรับเอาอิทธิพลจากศิลปะภายนอกเช่น จากศิลปะตะวันตกเข้ามาใช้ปรับกับศิลปะไทยประเพณี ซึ่งเป็นกระบวนการหลักที่ส่งผลต่องานจิตรกรรมไทยในช่วงตั้งไข่ของความเป็นร่วมสมัย
นอกจากนั้น ไมเคิล ไรท ยังได้ทำให้ความเข้าใจที่คลุมเครือเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องการจัดกลุ่มประเภทของจิตรกรรมไทย โดยอธิบายให้เห็นภาพของ ประเภทร่วมสมัย ประเภทไทยประเพณี ประเภทแนวไทยประเพณี แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีคำถามเกิดขึ้นอย่างมากมายต่อการมองศิลปะกับสังคมไทยในขณะนั้น อีกทั้งยังแอบมีแง่คิดเสนอแนะให้กับศิลปิน มันช่างคล้ายกับสังคมไทยใน พ.ศ.2556 ที่ต่างมุ่งหวังหาทางออกให้กับประเทศจากโพรงหลืบอับชื้นที่มีปลายทางเห็นแสงอันริบหรี่ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งในด้านโลกทัศน์ของผู้อุปถัมภ์ศิลปะในวังหลวงต่อแนวศิลปะ Realism ในขณะที่ Impressionism หรือ Cubism ที่กำลังผลิบานในแวดวงศิลปะสากล และกระตุ้นคิดในด้านบทบาทของศิลปะว่าไม่ควรรับใช้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชเยี่ยงทาส แต่น่าจะเข้าข้างคนธรรมดาในการแสดงออกทางความคิดเห็นให้สะท้อนความขัดแย้ง ความไม่เสมอภาค หากศิลปินไทยได้ศึกษาเรื่องราวองค์ความรู้ในรากฐานความคิดของตนเอง ทั้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และองค์ความรู้ตะวันตกในด้านปัญหาสังคมและวัฒนธรรมจนนำมาสู่การตีความโดยตัวศิลปินเองที่น่าจะทำได้ดี
อย่างไรก็ตามผลงานของงานไมเคิล ไรท น่าจะส่งผลกระทบถึงระบบการประกวดงานศิลปะจากแหล่งอุปถัมภ์ที่การันตีความดีเลิศด้วยการให้รางวัล ในด้านการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ศิลปะ ที่สังคมไทยอยากรู้เรื่องการพัฒนาของจิตรกรรมไทยว่าทิศทางเป็นอย่างไรในสังคมโลกาภิวัตน์ ดังจะเห็นได้จากสูจิบัตรในนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 35 พุทธศักราช 2556 ที่ได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นจากการตัดสินผลงานโดยประธานกรรมการตัดสินจิตรกรรมบัวหลวงคือ ชลูด นิ่มเสมอ ที่มีต่อผลงานในกลุ่มประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี และประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย รวมทั้งมีบทความของ กำจร สุนพงษ์ศรีและผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวด จากการไปศึกษาดูงานศิลปวัฒนธรรมที่รัสเซีย
จากข้อคิดเห็นของชลูด นิ่มเสมอ ที่มีต่อผลงานแต่ละชิ้นนั้น ได้อธิบายถึงความหมายของศิลปินที่ได้สื่อสารผ่านภาษาภาพ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ อารมณ์สะเทือนใจต่อแรงบันดาลใจที่ส่งผลกระทบไปยังคนดูและความรู้สึกที่มีต่องานชิ้นต่างๆ ให้คล้อยตามไปกับท่วงทำนองของวรรณศิลป์ที่มาอธิบายทัศนศิลป์จนเกิดความเข้าใจแต่ไร้ซึ่งคำถามต่อสิ่งที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้น ท่ามกลางความเป็นไปในสังคมไทยหรือสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งโดยผลงานเกือบทั้งหมดว่าด้วยเรื่องของฐานความคิดของศาสนาพุทธเป็นศูนย์กลาง ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยทั้งแบบประเพณีและร่วมสมัย ในข้อคิดเห็นดังกล่าวต่างชื่นชมไปกับองค์ประกอบของศิลปะ แต่ขาดซึ่งการสะท้อนให้ข้อคิดเห็นต่อตัวงานศิลปะกับสังคมไทย จึงอาจทำให้การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงยิ่งห่างไกลต่อคนในสังคม เสมือนแพค่อยๆ ลอยออกจากฝั่งแล้วรอวันที่ความเสื่อมสลายจากกาลเวลามาเป็นผู้กระทำให้มันแตกกระจายไป
สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของจิตรกรรมไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นทั้งในงานจิตรกรรมบัวหลวงและงานของศิลปินรุ่นเล็กใหญ่หลายคนยังคงล้วนอยู่ในกรอบแนวคิดของพุทธศาสนา แล้วนำเนื้อหาในศาสนามาใช้เป็นเรื่องเล่าในจิตรกรรมไทยเพื่อการอธิบายหลักคำสอน แต่สิ่งที่น่าคิดคือศิลปินพยายามเป็นคนกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธศาสนา ราวกับว่าพุทธศาสนิกชนไม่มีความเข้าใจในแก่นศาสนาเท่าตัวศิลปิน หรืออาจะเกิดจากปัญหาทางภาษาในคัมภีร์ที่นับวันจะกลายเป็นภาษาต่างดาวจนมีเฉพาะกลุ่มคนที่สามารถเข้าใจถ่องแท้อย่างนั้นหรือไม่ เป็นความจริงที่ว่างานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรากฐานความคิดจากศาสนา แต่หากมองชาติที่มีศาสนาเดียวกันในภูมิภาคเดียวกัน กลับเป็นสิ่งที่เขาได้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการสถาปนารัฐชาติให้เป็นปึกแผ่นด้วยขบวนการชาตินิยมไปเรียบร้อยแล้ว และหันกลับมามองความทรงจำของความเป็นคนในสังคมที่ผ่านกาลเวลาและเจอะเจออะไรมาบ้าง เพื่อนำเสนอสู่สังคม ที่คนในสังคมเดียวกันและคนในสังคมโลกาภิวัตน์สามารถรับรู้และเข้าถึงได้
นอกจากนั้นแล้วยังมีงานวิจารณ์ที่ถือว่าเป็นชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ “ปัญญา วิจินธนสาร: ปรากฏการณ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นงานในโครงการวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย จักรพันธ์ วิลาสินีกุล เป็นบรรณาธิการ ซึ่งผู้เขียนมีข้อคำถามเกิดขึ้นในใจตรงบทวิเคราะห์หลายประเด็น เนื่องจากงานนี้เป็นงานวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ของศิลปะไทยร่วมสมัยที่มีอยู่ส่วนน้อย หากเทียบกับเนื้อหาความรู้การปฏิบัติการ และตัวศิลปินเองโดยส่วนใหญ่อยู่ในฐานะนักปฎิบัติ ดังนั้นจึงค่อนข้างมีความอ่อนไหวอันอาจจะเกิดขึ้นต่อการรับรู้ของชุดความรู้นี้ต่อไป ในการเห็นและยึดถือเป็นแนวคิดและทางปฏิบัติ ในงานนี้กล่าวไว้ว่า
จิตรกรรมไทยได้ผ่านกาลเวลาของการทดลองไปแล้วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเป็นสังคมเปิดกว้างพร้อมรับแนวคิดและประเพณีภายนอกมาปรับให้เหมาะกับตนเอง ส่งผลถึงงานศิลปกรรมในอดีต แต่ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าขณะนี้เราได้ผ่านการทดลองไปแล้ว สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากศิลปินในแนวทางจิตรกรรมไทยที่สร้างงานในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่ง ปัญญา วิจินธนสาร เองก็มิอาจจะสรุปว่าผ่านช่วงแห่งการทดลองมาแล้ว หรือถึงจุดสิ้นสุดของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย นั่นก็หมายถึงศิลปินเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ที่หลงรักในศิลปะแบบประเพณี หรือแบบไทยประเพณี และจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ก็ไม่ต้องทดลองกันอีกแล้ว และมาเอาแนวทางจาก ปัญญา วิจินธนาสาร เป็นต้นแบบอย่างนั้นหรือ
สังคมร่วมสมัยส่งผลต่อความคิดของศิลปินในการสร้างสรรค์งาน โดยการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดของคนในสังคมทั้งภายนอก และภายในประเทศซึ่งล้วนเกาะเกี่ยวต่อเนื่องกันเป็นพลวัต สังคมไทยไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อีกต่อไป แล้วพลวัตเหล่านี้มันมีผลต่อศิลปะไทย จิตรกรรมไทยอย่างไร นั่นคือคำถามของตัวศิลปินเองที่ต้องครุ่นคิด กลั่นกรองสารข้อมูลที่ได้แล้วนำมาย่อยผ่านกระบวนการทางความคิด การตีความ ซึ่งบทความเดียวกันนี้ไม่ปรากฏชี้ทางให้เห็นถึงการที่ศิลปินไทยจะทำอย่างไรในความเคลื่อนไหวของโลกาภิวัตน์ มีการอธิบายเพียงแต่ศิลปินไทยได้เรียนรู้ตะวันตกแล้วปรับมาใช้กับจิตรกรรมไทย ในประเด็นนี้จึงทำให้ผู้เขียนสงสัยขึ้นมาอีกแล้วว่า อะไรคือความรู้แบบตะวันตก ที่ศิลปินนำมาใช้ระหว่างรูปแบบ หรือความคิดที่มาจากเหตุปัจจัยต่างๆ หรือโลกทัศน์ เนื่องจากสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ศิลปินแนวจิตรกรรมไทยประเพณีหรือจิตรกรรมไทยร่วมสมัยต่างก็มีความคิดอยู่ในกรอบของพุทธศาสนาเพื่อการสร้างสรรค์ภาพอธิบาย มิได้เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน ทั้งยังมีการอธิบายในบทวิเคราะห์เดียวกันว่า “กระแสโลกาภิวัตน์ช่วยให้คนรับรู้ข้อมูลได้ง่าย รวมทั้งการรับงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัย คนรับจำเป็นต้องมีความเข้าใจพุทธศาสนากับศิลปะไทย แต่ในปัจจุบันสาระดังกล่าวเป็นเรื่องที่เปิดเผยและหาความรู้ได้สำหรับผู้สนใจทั่วโลกไม่จำกัดเฉพาะผู้ชมไทย” นั่นก็แสดงว่าหากคนทั่วโลกต้อง การซึบซับรับรู้ศิลปะไทยแล้วไม่รู้เรื่องศาสนาก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ แล้วศิลปินจิตรกรรมไทยจะก้าวพ้นไปไกลเกินกว่าสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างไร
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นทั้งที่เราก็เห็นศิลปินรุ่นใหญ่เริ่มปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ที่ที่เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการรับรู้ของคนชมศิลปะ ไม่ว่ามาในรูปแบบของกรรมการตัดสินรายการเรียลลีตี้ การออกเหรียญรุ่นราวกับครั้งเมื่อจาตุคามระบาดในเมืองไทย หรือการปรากฏในโซเชียลมีเดียที่ออกมาด่าตัวผู้สัมภาษณ์และคนที่กำลังคิดจะก้าวข้ามมาสู่วงล้อมอันคับแคบของกรอบคิดแบบศิลปะไทย ผลที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยจึงรับรู้ความเป็นศิลปะด้วยใบหน้าของศิลปินปรมาจารย์ของเมืองไทยเพียงไม่กี่คน แต่ผลที่เกิดขึ้นกับการเปิดกว้างทางศิลปะนั้นกลับสวนทางกันกับความผันเปลี่ยนของศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นนี้ กฤติยา กาวีวงศ์ ได้เสวนาในหัวข้อ “พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน: ความเชื่อมโยงในความทรงจำร่วมเชิงประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม” ท ี่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 โดยสรุปได้ว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการนำหลักแนวคิดที่เกี่ยวกับ Social Memory มาใช้ในการผลิตงานศิลปะร่วมสมัยโดยนำเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับ สังคม การเมืองมาพูดในการนำเสนองาน การมีส่วนร่วมของความทรงจำในประวัติศาสตร์ ส่วนในประเทศไทยนั้นจะหลอมรวมความเป็นอาเซียน แต่จะสามารถก้าวพ้นอย่างไรให้พ้นจากความเป็นชาตินิยม ถึงแม้ว่ากระแสเรื่องความเป็นชาตินิยมได้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นภาษาศิลปะในประเทศอาณานิคมในกลุ่มเอเซียนมาแล้วก็ตาม ความสำคัญอีกประการหนึ่งนั้น ทุกวันนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างไม่เคยเข้าใจหรือมีความคิดและเรียกตนเองว่า เราเป็นอาเซียนซึ่งอาจจะต่างกับยุโรป ที่มีการเรียกตนเองว่า ยูโรเปียน เพราะประเทศแต่ละประเทศนั้นต่างก็เรียกตนเองว่า “เราคือไทย” “เราคือลาว” เป็นต้น
หากเป็นเช่นนั้นนี่คือสิ่งที่ทำให้งานจิตรกรรมไทยยังคงวนเล่าเรื่องในพุทธประวัติ สวรรค์ชั้นวิมาน ในขณะที่คนไทยเองในสังคมวันนี้กลับวุ่นวายกับความไม่มั่นคงทางการเมือง แตกต่างทางความคิด มีการเชื่อจากชุดความรู้ด้านเดียว กลับกันนั้นศิลปินเองยังใช้กรอบคิดและโลกทัศน์ในเงื่อนไขของศิลปะในสังคมที่ผ่านมาแล้วมาให้คนยุคปัจจุบันรับให้ได้ หรือศิลปะที่แสดงในภาพเฉลิมพระเกียรติที่แสดงพระราชกรณียกิจ ดังที่เห็นตั้งแต่ศิลปะเด็กจนถึงศิลปิน หรือมีการพยายามมองโลกที่มีปัญหามากมายมาเชื่อมโยงกับจิตรกรรมภาพมารผจญ ผลงานที่ได้รับรางวัลประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี ในการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 35 ของ บุญเสริม วัฒนกิจ โดยเสนอภาพของ สตีฟ จอบส์ ปรากฏในกองทัพมารที่มีต้นทางของภาพมาจากงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย โดยโลกทัศน์ของช่างในอดีตมองว่าฝรั่งคือศัตรูจึงได้เขียนภาพฝร่ังในกองทัพมารให้เกิดการรับรู้ ซึ่งตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยทุกด้าน และเกิดการต่อต้านเรื่อยมาจนในสังคมปัจจุบัน โลกทัศน์ของสังคมไทยที่มีต่อฝรั่งเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก การยอมรับคนภายนอกให้เข้ามาสู่ความเป็นคนภายในเพื่อการยกระดับฐานะทางสังคมเกิดขึ้น ทั้งนี้คงไม่ได้หมายรวมถึงมนุษย์ผมทองเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์ต่อการเปิดรับนานาชาติ คนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันก็เป็นที่ยอมรับในความเป็นคนภายนอก เช่นการยอมรับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เป็นส่ิงที่สังคมไทยรับได้ เพราะมันมีความหมายแฝงเร้นอยู่ในนั้นอีกมากมาย ดังนั้น มารผจญในศตวรรษที่ 21 คงจะไม่ใช่มองฝร่ังเป็นมารอีกต่อไป ศิลปินควรจะเปิดโลกทัศน์แล้วไม่ใช้กรอบคิดจากโลกทัศน์เดิมมาอธิบายโลกปัจจุบัน เพราะอย่างน้อยในสังคมเล็กๆแถวบ้านผู้เขียนก็มีคุณพ่อฝรั่งเดินเลี้ยงลูกที่เกิดกับคู่สมรสคนไทยอยู่ 4 คนแล้วล่ะครับ
Comentários