ศุภชัย อารีรุ่งเรือง / 7 กันยายน 2564
จากช้อมูลข่าวออนไลน์ที่กระจายอยู่เช่น จาก iT24Hrs. ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 ระบุว่า กรุงเทพฯคว้าอันดับ 1 เมืองที่น่า Workation ที่สุดในโลก ไทยติด top10 ถึง 3 ที่ คุณผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ครับ
แน่นอนว่าคุณย่อมเกิดคำถามว่าอะไรคือ เหตุผลหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แล้วทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ จากขัอมูลระบุว่า เป็นเพราะมีสถานที่สำหรับพักผ่อน ค่าเช่ารายเดือนมีราคาถูก ค่าเครื่องดื่มถูก มีจำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดในแต่ละวัน ความเร็วของ Wi-Fi มีกิจกรรมท่องเที่ยว นอกจากกรุงเทพฯก็มีที่ ภูเก็ต และเชียงใหม่ด้วยนะ อีกเหตุผลที่กรุงเทพฯติดอันดับหนึ่ง ก็ด้วยค่าครองชีพไม่แพง (ในความเห็นผมนะ คงเป็นสำหรับชาวต่างชาตินะครับสำหรับข้อนี้) คนมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษสูง มีส่ิงอำนวยความสะดวกมากมาย มีบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะจริงแบบนั้นหรือไม่นะทีนี้เรามาดูต่อจากข้อมูลแหล่งอื่นบ้าง
ผมได้ฟังจาก Youtube ในช่องของ The Secret Sauce ในหัวข้อ Workation ทำงานไป เที่ยวไป เทรนด์ใหม่ โอกาสใหญ่ / Executive Espresso EP.265 ที่ได้นำหัวข้อนี้มานำเสนอแล้ววิเคราะห์ลึกลงไปถึงเหตุผลว่า ทำไมการทำงานในแบบใหม่หลังวิกฤติโควิด19 มันมาทางนี้แล้วมันน่าจะดีอย่างไร ผมจับใจความสรุปมาสั้นๆแบบนี้นะครับ
Productivity ยังดีอยู่ คือหลายคนอาจพบว่าการได้ทำงานที่บ้านก็ทำงานได้ไม่ต่างจากการต้องไปทำงานในออฟฟิส ที่หน่วยงานของคุณ แถมไม่ต้องเดินทางด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่า คนทำงานที่ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม เอาแค่คนที่ทำงานที่บ้านได้นะแต่ไม่นับรวมคนที่ต้องทำงานในพื้นที่ทำงานเดิมจริงๆ แต่สำหรับผมมองเรื่องนี้ว่า การทำงานที่บ้านเหมาะกับงานบางอย่างที่คุณสามารถดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอื่นนอกจาก คอมฯ มือถือ Tablet Wi-Fi ไมค์ กล้อง ไฟส่องสว่าง และคุณทำงานในส่วนของการใช้ความคิด ความรู้ แล้วสื่อสารผ่านทางไกลได้ แต่สำหรับงานประเภทอื่นๆที่ต้องใช้อุปกรณ์จากที่ทำงาน อย่างไรก็ต้องไปทำงานที่ทำงานอยู่ดี สำหรับผมที่มีอาชีพสอนหนังสือ ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเท่าไรเพราะผมเห็นได้ชัดเจนของความแตกต่างระหว่างการสอนระดับปริญญาเอก กับการสอนระดับปริญญาตรี ปี1 คือ ความสนใจ ความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้เรียน มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือผมพบว่า ผมสอนออน์ไลน์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกสนุกกว่า เพราะผู้เรียนต้องการเรียน ต้องการความรู้ ต้องการโต้เถียงทางความคิด ในขณะที่นักศึกษาปริญญาตรีกลับไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าไรนัก และปิดบังซ่อนตัวเองไม่ต้องการเปิดเผยสถานที่ ใบหน้า เสียง โดยไม่จำเป็น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งคือ เป็นรายวิชาพื้นฐานที่ไม่ใช่นักศึกษาในคณะที่ผมสอน ก็อาจเป็นได้
ได้ชีวิตกลับคืนมา คือบางคนสามารถได้มีชีวิตอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว อยู่กับลูกมากขึ้น มีเวลาปลูกต้นไม้ จัดบ้าน ไม่ต้องเผชิญระติด แต่ในความเห็นผมจากที่เขียนบทความไปก่อนหน้านี้คือเรื่อง New Inequality คือเรื่องของความไม่เทียมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เรียนที่บ้านร่วมกันกับครอบครัว นอกจากนั้น The Secret Sauce ยังกล่าวถึงว่า ต่อไปจะไม่ใช่แค่การ Work from home แต่จะเป็น Work from anywhere ต่อไปหลายๆแห่งขององค์กรจะใช้แนวทางการทำงานแบบนี้ถึงแม้โควิด จะหายไป
มาถึงตรงนี้สำหรับความเห็นผมนะครับเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ในเมืองไทย ผมหมายถึง คนไทยด้วยกันเอง ผมว่า 50/50 ครับ คือในการเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศไทยเองก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีรายได้น้อย หรือคนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ที่กำลังเก็บเงินในการผ่อนคอนโดฯ รถ เก็บเงินเผื่อประกันสุขภาพ แต่ก็อาจสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในอาชีพที่ให้อิสระในการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ทำงาน อาจจะเป็นบริษัทใหม่ๆ ในการให้อิสระต่อพนักงานให้ทำงานได้ที่บ้าน
ทีนี้กลับมาที่การศึกษาบ้างครับ ในระบบการศึกษาแน่นอนมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกันใหญ่ๆอยู่สองอย่างคือ ผู้สอน กับนักเรียน ในขณะนี้ผู้สอนบางคน บางโรงเรียนอาจจะสามารถเดินทางไปบนดอย ไปสอนหนังสือในรีสอร์ทบางแห่ง โดยท่องเที่ยวไปด้วยแต่ขณะที่นักเรียนหลายๆคนต้องทนอยู่กับบ้าน และบางบ้านอาจจะไม่พร้อมในการเรียนหนังสือออนไลน์ มันจึงทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ขึ้นมาในสังคมอีกครับ จึงไม่แปลกที่เช้าวันนี้ในวันที่ 7 กันยายน 2564 จึงมีกลุ่มที่ต้องการแสดงออกทางความเห็นได้สร้างความตกใจให้กับคนในสังคม โดยการติดป้ายผ้าบนทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้ากลางสี่แยกอโศก และตระเตรียมการแสดงการผูกคอห้อยตัวลงมาจากสะพานทางเดินเชื่อมนั้น คือมองไกลๆ มันเหมือนคนผูกคอตายนั่นเอง ปัญหานี้เกิดขึ้นมาจากการสั่งสัมนับตั้งแต่เร่ิมมีการระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้น ปัญหามันไม่ใช่แค่การให้เห็นว่า การทำงานนอกสถานที่ เป็นเรื่องน่าอภิรมย์ในขณะที่ช่องว่างทางสังคม และเศรษฐกิจในเมืองไทยควรจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยสรุปแล้วผมมองว่า คงจะเป็นข่าวสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศไทยได้มีรายได้กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้มองปัญหาที่มันซับซ้อนอยู่ในระบบทุกระบบนะครับ
ผู้เขียน ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
Comments