
ผมขอชวนวิเคราะห์ลวดลายไทย สมัยอยุธยา ที่ท้าทายกาลเวลาหลุดรอดจากการล่มสลาย กลายเป็นสินค้าส่งออก ณ วันนี้อยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่นักวิชาการทางศิลปะไทย ยกย่องให้เป็นสุดยอดของยุคทองในศิลปะอยุธยา นามว่า "สกุลช่างวัดเชิงหวาย"
การรับรู้ที่ปลูกฝังกันมาว่า ลายไทยเป็น 2 มิติ ไม่มีระยะ ตื้น ลึก แต่จริง ๆ แล้ว ไม่เป็นจริงอย่างนั้น หากวิเคราะห์ดูจากลายที่ตู้พระธรรม สกุลช่างวัดเชิงหวาย (จากภาพประกอบ) ผมได้ถอดส่วนประกอบลวดลายที่ประกอบด้วย เถาลาย กระหนก ออกเป็นส่วน ๆ ก็จะเห็นว่า การผูกลายสกุลช่างวัดเชิงหวายของตู้พระธรรมนี้ ฉีกขนบประเพณีการออกแบบลวดลายที่แตกต่างจากลายอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
จากภาพที่ผมได้วาดเส้นให้เห็นการทับซ้อนลาย จะเห็นว่า ช่างออกแบบตั้งใจให้กระหนกแต่ละตัว รวมทั้ง กาบ แต่ละส่วน มาทับซ้อนข้ามโครงสร้างของเถาลาย เพราะลายโดยทั่วไป กระหนกจะอยู่ในช่องว่างระหว่าง เถา แต่ละเถาลาย (เถา หมายถือ ก้าน ลำต้น ของพืช ต้นไม้ ในความหมายของลายไทย เถา เป็นโครงสร้างให้ลายกระหนก แตกออกไปสู่ที่ว่าง) ดังนั้น การศึกษาลายไทย ควรจะเข้าใจโครงสร้าง และมิติ ที่อยู่ในลวดลาย
Comments