top of page
รูปภาพนักเขียนsupachai areerungruang

ประเด็นการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2557 – 2563 Social Criticism Issues in Thai Contemporary Art since 2014 – 2020

อัปเดตเมื่อ 28 มิ.ย.




ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สำเนาบทความ ที่ได้เผยแพร่ในวารสารศิลป์พีระศรี ปี 2567 ฉบับ 1


บทคัดย่อ

            งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาประเด็นการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย และผลลัพธ์จากศิลปกรรมไทยที่มีการวิพากษ์สังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2563 โดยศึกษาผลงานศิลปกรรม กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรม บทความ บทวิจารณ์ และการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในแวดวงของศิลปกรรมที่มีการวิพากษ์สังคม พบว่าตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2557 ที่มีการทำรัฐประหารจนมีรัฐบาลจากเผด็จการจนถึง พ.ศ. 2563 ปรากฏการณ์ทางศิลปกรรมวิพากษ์สังคมได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีความหลากหลายประเด็นมากกว่าอดีต ได้แก่ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมกัน สิทธิพลเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา ซึ่งในการแสดงออกทางการวิพากษ์มีตั้งแต่ระดับเยาวชนในโรงเรียนประถม มัธยมศึกษา และประชาชน เกิดกิจกรรมปฏิบัติการทางศิลปะโดยกลุ่มนักสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ กับประชาชนร่วมกันแสดงออกบนพื้นที่ ให้เกิดความหมายโยงกับประวัติศาสตร์สังคม ชุมชนที่ไม่ได้อยู่แต่ในหอศิลป์ แกลลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะอีกต่อไป

คำสำคัญ : ประเด็นวิพากษ์สังคม, ศิลปกรรมร่วมสมัยไทย


Abstracts

 

This research aims to examine the issue of social criticism in contemporary Thai art, as well as the results of Thai fine arts with social criticism from 2014 to 2020, by analysing socially critical works of art, activities related to fine arts, articles, reviews, and interviews with individuals in the field of fine arts. It was discovered that the phenomenon of social criticism art has persisted since before the year 2014, when there was a rebellion, until there was a government from dictatorship until the year 2020. The number continues to rise, with more issues than ever before, such as gender diversity, equality, civil rights, environment, and education, resulting in art practice activities created by groups of creative people from various fields and the public to express themselves in the art space in order to convey meaningful connections to social issues. This art community is no longer confined only to art galleries or art museums.

 

Keywords : social critical issues, Thai contemporary art


บทนำ

Ellen Mazur Thomson ผู้ซึ่งเป็นนักออกแบบกราฟิก ศิลปินด้านภาพพิมพ์ ได้เขียนบทความเรื่อง Thorstein Veblen at the university of Chicago and the socialization of aesthetics ในหนังสือรวมบทความด้านสุนทรียศาสตร์เรื่อง Art and aesthetics ได้นำข้อความของ Jame H.Tufts ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้อธิบายการเกิดขึ้นของศิลปะเกือบทุกประเภทนั้นมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับแรงกดดันทางสังคม ได้รับการอุปถัมภ์จากสังคม ในทางกลับกันศิลปะก็ได้แสดงออกในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ (Thomson, 1999 as cited in Tufts, 1903) จากคำกล่าวนี้ยังคงสะท้อนปรากฏการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของสังคมไทยแต่เหตุการณ์ทางสังคมส่งผลต่อผลงานศิลปะอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ.2563 (ซึ่งเป็นช่วงของการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต่อเนื่องมาถึงคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาถึงผลกระทบต่อวงการศิลปะในขณะที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (National Council for Peace and Order) ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคณะ นั่นทำให้สังคมไทยพยายามแสดงออกความคิดเห็น และนักสร้างสรรค์งานศิลปะย่อมแสดงออกทางความคิด เสมือนภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ถึงอย่างไรก็ตามการรวบรวมบันทึกปรากฏการณ์ ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับงานศิลปะยังมีอยู่น้อยมากในช่วงระยะเวลาก่อนการทำวิจัยจนถึงช่วงทำวิจัย พ.ศ. 2564-2565


แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในประเทศ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในปี พ.ศ.2563 สิ่งที่ไม่คาดคิดของคนทั้งโลกที่ได้ทำลายชีวิตของมนุษย์จนลามไปถึงระบบทุกระบบก็เกิดขึ้น นั่นคือ การระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 คนในแวดวงศิลปะก็พยายามดิ้นรนหาทางรอด หน่วยงานราชการต่างหากิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ จิตสำนึก หรือแม้กระทั่งทำกิจกรรมช่วยคนสร้างสรรค์ศิลปะ เช่น การส่งเสริมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในโครงการศิลปินร่วมสมัย สู้ภัยโควิด ด้วยจิตสำนึก ด้วยการจัดแสดงผลงานสาขาทัศนศิลป์และสาขาภาพถ่าย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม พ.ศ.2563 (กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2563)

จากข้อมูลที่ผู้วิจัยนำเสนอให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญในสังคมไทยในเบื้องต้นก็ยังมีงานวิจัยที่ได้ให้ความสนใจประเด็นดังกล่าวที่พอจะยกตัวอย่างมาให้เห็นคือ ผลงานวิชาการของ นัทธมน เปรมสำรัญ (2562: 112-119) ในเรื่อง เรื่องเล่าย่อยทางการเมืองผ่านสัจนิยมมหัศจรรย์ในผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยปี 2557-2560 ด้วยการวิเคราะห์ผลงานของศิลปินร่วมสมัยของไทยหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2557 โดยเลือกศิลปินไทย 4 คนกับแนวคิดเรื่องสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้วิจัย งานวิชาการนี้เป็นการคัดเลือกผลงานที่อยู่ในขอบข่ายตามทฤษฎีที่ตั้งไว้ แต่ยังไม่มีการเปรียบเทียบกับผลงานอื่น ๆ และต้องการนำเสนอผลงานเฉพาะด้านการเมืองที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับความคิดของกลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพียงเท่านั้น ในมุมกลับกันผลงานศิลปะที่นำเสนอประเด็นสังคมก็เป็นกลวิธีหนึ่งของศิลปินที่สร้างสรรค์งานสะท้อนกลับให้คนในสังคมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านงานศิลปะ ผู้วิจัยของยกตัวอย่างผลงานของผู้วิจัย คือ หนังสือเรื่องประเด็นในงานศิลปะไทยร่วมสมัย ได้ศึกษาประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในงานศิลปะไทยร่วมสมัย เช่น ศิลปะการเมือง ศิลปะกับเพศสภาพ ด้วยกระบวนการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ความคิดของคนในสังคมนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 (ศุภชัย อารีรุ่งเรือง, 2561: 8-9) แต่ข้อมูลก็ยังไม่ทันสมัยต่อปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ทางสังคมอย่างมากมายทำให้ส่งผลกระทบต่อสังคมและปรากฏการณ์ทางศิลปะ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในประเทศไทยจนถึงศิลปะร่วมสมัยอยู่ในกรอบวิธีคิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง หรืออเมริกันเป็นศูนย์กลางมายาวนานนั้น ตั้งแต่มีการก่อตั้งระบบการศึกษาศิลปะในประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศแถบเอเชียกำลังเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก แต่ในขณะที่สังคมไทยมีความรู้ในศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัยทั้งเอเชียหรือในไทยน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากความรู้ของฐานคิดแบบตะวันตกอาจจะไม่สามารถใช้แนวคิดนั้นมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นการพูดถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ก็ไม่เหมือนกับการรับรู้ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมาจากการตีความข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่ก็กลับกลายเป็นการตีความสวนทางกับการตีความของคนในสังคม ซึ่งผู้สร้างสรรค์งานศิลปะต่าง ๆ ก็เสนอมุมมองปัญหาของสังคม ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น อาจจะต้องใช้มุมมองและหอข้อสรุปทางความคิดของเราที่เป็นประชาชนชาวไทยด้วยกันเอง ดังคำเสนอแนวคิดของ เจตนา นาควัชระ (2560 : 416) ผู้ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวิจารณ์วรรณกรรม ได้เสนอความคิดต่อการวิจารณ์ว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ทฤษฎีตะวันตกหมดพลังที่จะอธิบายปรากฏการณ์ไทย ผู้วิจารณ์หรือนักวิจัยต้องกล้าที่ตัดสินใจมองด้วยสายตาคนไทย เป็นการสร้างทฤษฎีเบื้องต้นจากประสบการณ์ของแผ่นดินแม่ ผู้วิจัยมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องสร้างองค์ความรู้จากฐานความคิด จากบริบทของเราเองในขณะที่โลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยความสับสนงุนงง (ภาพ 1)




ภาพ 1

กลุ่มเยาวชนได้แสดงสดเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมืองเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งแตกต่างไปกว่าการแสดงออกทางการเมืองในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมา


กล่าวโดยสรุปในเรื่องประเด็นการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2563 ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นอันส่งผลกระทบต่อคนในสังคม แล้ววงการศิลปะมีผลสะท้อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ในขณะที่สังคมต้องการความรู้ในประเด็นต่าง ๆ และชุดความรู้หลายมุมมอง งานวิจัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านการศึกษาศิลปะในทางมนุษยศาสตร์ และยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่สังคมศาสตร์ ทั้งนี้ผู้วิจัยมีประสบการณ์วิจัยในประเด็นนี้มาก่อนจากการศึกษาปรากฏการณ์ของศิลปะก่อน พ.ศ. 2557 ดังนั้นผลการวิจัยนี้จะได้องค์ความรู้ในการเผยแพร่ด้วยบทความวิจัยในวารสารวิชาการ การพิมพ์เป็นหนังสือ การจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยทางออนไลน์ เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มาช่วยต่อเติมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนไทยในวงวิชาการ นักสร้างสรรค์ และสังคมนานาชาติที่เฝ้าติดตามพัฒนาการของศิลปะในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังได้นำองค์ความรู้ที่ได้นำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในประเด็นปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (กมล โพธิเย็น, 2564)


วัตถุประสงค์

1. เพื่อค้นหาให้ได้ประเด็นการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2563 ที่มาจากผลงานศิลปกรรม 

2. เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์จากศิลปกรรมไทยที่มีการวิพากษ์สังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2563

 

ระเบียบวิธีวิจัย

โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลกระทบต่อนักสร้างสรรค์ศิลปิน และนักวิจารณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดังนั้น วิธีการวิจัยจึงเป็นแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสำรวจประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมในแง่มุมที่ส่งผลต่องานศิลปะ ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นประเด็นข้อถกเถียงต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาประเด็นจากการวิพากษ์สังคมด้วยงานศิลปกรรมร่วมสมัยไทย และสำรวจผลงานที่เป็นผลสะท้อนต่อประเด็นเหล่านั้น รวมทั้งวิเคราะห์์ผลลัพธ์จากศิลปกรรมไทยที่มีการวิพากษ์สังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2563 


กรอบการวิจัยและการดำเนินการวิจัย

งานวิจัยนี้ออกแบบภายใต้กรอบการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อค้นหาประเด็นการวิพากษ์สังคมจากงานศิลปกรรมร่วมสมัยไทย รวมทั้งผลกระทบกลับจากงานศิลปกรรม ด้วยกรอบวิจัยดังนี้ 

            1) ปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และส่งผลให้คนในสังคมเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ กลุ่มนักสร้างสรรค์ ศิลปินได้ผลิตผลงานออกมาสู่สาธารณะที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้ผลิตผลงานออกมา 

            2) ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่ต้องการสะท้อนกลับให้สาธารณะได้รับรู้ความคิด คือ ผลงานของกลุ่มนักสร้างสรรค์ ศิลปินที่มีผลงานสู่สาธารณะ 

            3) ปรากฏการณ์วิทยา เป็นการศึกษาในข้อมูลที่อยู่ในสำนึกของมนุษย์ซึ่งเป็นแกนกลางของการรับรู้ เพื่ออธิบายบริบท เหตุผลจากความคิดหนึ่งที่ทำให้เข้าใจเหตุของการเกิดขึ้นหรือจะกล่าวได้ว่า เป็นการเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในเชิงปรัชญา ด้วยพื้นฐานของการหาความจริงบนประสบการณ์ซึ่งเริ่มปรากฏครั้งแรกจากความคิดของนักปรัชญา คริสตอฟ ฟรีดริค โอททิงเงอร์ (Christoph Friedrich Oetinger, 1702-1782) ได้ให้ความหมายคำว่า ปรากฏการณ์ ว่าเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่คนในสังคมเห็นได้ ซึ่งผู้มีอิทธิผลอย่างมากคือ เอ็ดมันด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl, 1938 - 1985)

การเก็บข้อมูล

            โครงการวิจัยนี้มีองค์ประกอบสำคัญคือ การค้นหาประเด็นวิพากษ์สังคมจากศิลปกรรมร่วมสมัยไทย คือ การทบทวนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในด้านการเมือง ปัญหา สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น และผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่าง ๆ จากเอกสารงานวิจัย บทความ สูจิบัตร ในรูปแบบเอกสารเล่มและข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานศิลปะในช่วงเวลาตามกรอบที่กำหนด ข้อมูลในสื่อรายการช่องต่าง ๆ ที่ทำการสัมภาษณ์เกี่ยวกับงานศิลปะและประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม และ บทวิจารณ์ที่ได้ทำให้เห็นมุมมองความคิดของนักวิจารณ์ต่องานศิลปะที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังได้สัมภาษณ์คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย ดังนี้


บุคคลที่อยู่ในแวดวงของศิลปกรรมร่วมสมัย จากหลายหลายสาขาวิชาชีพ โดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Structured Interview) จำนวน 7 คน ดังนี้

                        1.อาจารย์ ดร.สุริยะ ฉายะเจริญ นักวิจารณ์ นักวิชาการศิลปะร่วมสมัย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 25 มิถุนายน 2565 ผ่าน Zoom

                        2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิธรรม โรหิตะสุข อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิจารณ์ศิลปะ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 26 มิถุนายน 2565 ผ่าน Zoom

                        3.รองศาสตราจารย์อำนาจ เย็นสบาย ข้าราชการบำนาญ นักวิจารณ์ศิลปะ ศิลปินที่มีผลงานสะท้อนสังคม การเมือง ตลาดช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ บ้านเลขที่ 120 ซอยพัฒนาการ 53 หมู่บ้านเมืองทอง 2 โครงการ 3 กรุงเทพมหานคร

                        4.ไพโรจน์ ธีระประภา นักออกแบบชุดตัวอักษรที่มีผลงานโดดเด่นในสื่อต่าง ๆ ด้วยการนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาใช้ในการออกแบบ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ผ่าน Zoom

                        5.สืบแสง แสงวชิรภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดแสดงศิลปะให้กับศิลปิน เชื่อมโยงกับนักสะสมศิลปะ  ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ผ่าน Zoom

                        6. ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักวาดการ์ตูน “สะอาด” แนวสะท้อนสังคมที่อยู่ในกระแสสังคมของคนรุ่นใหม่ เยาวชนที่อ่านการ์ตูนและเป็นตัวแทนของเสียงของเด็กๆที่ต้องการสะท้อนความคิดสู่สังคม ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ผ่าน Zoom

7. ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง กลุ่ม B-Floor


ผลการวิจัย

ผู้วิจัยได้ค้นคว้ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นข้อมูลจากเอกสารสูจิบัตร ออนไลน์ การลงภาคสนามในการชุมนุมของผู้ชุมนม นิทรรศการในพื้นที่นิทรรศการ และการเสวนาแบบไม่เป็นทางการกับบุคคลในแวดวงงานศิลปกรรมร่วมสมัย โดยการจัดระเบียบข้อมูลด้วยการเรียงลำดับช่วงเวลาของปีพุทธศักราชตั้งแต่ 2557 – 2563 เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ตามเส้นของเวลา (Time line) ทำให้เห็นภาพของเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่มีความสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางสังคม การเมืองในประเทศไทย ผลงานศิลปะ นิทรรศการ กิจกรรมทางศิลปะ งานวิจารณ์ศิลปะโดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือ ผลงานของผู้สร้างสรรค์ และงานเขียนวิจารณ์ที่แสดงออกทางความคิดในด้านการวิพากษ์สังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยการใช้สื่อ สัญลักษณ์ ในด้านศิลปกรรม โดยการคัดเลือกในช่วง พ.ศ. 2557 – 2563 มีจำนวน 66 ตัวอย่าง ซึ่งในบทความนี้ผู้วิจัยยกตัวอย่างมานำเสนอเพียงบางอย่างในแต่ละปี ดังตารางที่ 1 ผู้วิจัยพบว่าตั้งแต่การเข้ามาของทหารในการรัฐประหาร จนสามารถตั้งรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2557 - 2563 นั้น มีศิลปินได้แสดงผลงานศิลปะเพื่อสะท้อน วิพากษ์สังคมมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคน หรือทุกนิทรรศการ แต่ก็เห็นปริมาณ ความถี่ ได้ในแต่ละปี ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพียงแต่ผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏบทความที่ได้วิพากษ์ในประเด็นทางศิลปะกับสังคม การเมือง รวมทั้งมีกิจกรรมการเสวนาจากคนในแวดวงการศิลปะร่วมสมัย จนถึงการมีเวทีทางวิชาการที่ได้ตั้งประเด็นของศิลปะกับสังคมโครงการเสวนา ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นมีประเด็นของนักร้องที่สร้างสรรค์งานเพลงโดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship (ภาพ 2) ที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจต่อผลงานสร้างสรรค์นี้ ซึ่งแน่นอนมันทำให้รัฐบาล ไม่พอใจต่อเนื้อหาของเพลงจึงมีการควบคุมการเผยแพร่จากสื่อต่าง ๆ การเสวนาดำเนินการโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)



ภาพ 2

ศิลปินกลุ่ม RAD แสดงสดในกิจกรรมทางการเมือง แล้วถูกรัฐบาลไทยสั่งยูทิวบ์ระงับการเข้าถึงเอ็มวีเพลง “ปฏิรูป”

หมายเหตุ. จาก แร็ปต้านเผด็จการ: รัฐบาลไทยสั่งยูทิวบ์ระงับการเข้าถึงเอ็มวีเพลง “ปฏิรูป ของศิลปินกลุ่ม RAD, โดย BBC NEWs ไทย, 2021, https://www.bbc.com/thai/thailand-55545107


จากที่ผู้วิจัยได้กล่าวนำถึงการคัดเลือกตัวอย่างในงานวิจัยจำนวน 66 ตัวอย่าง   บทความนี้ผู้วิจัยขอนำเสนอบางตัวอย่างของงานศิลปะ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องในงานศิลปะและการวิพากษ์สังคม และงานวิจารณ์ที่มีประเด็นการวิพากษ์สังคมในช่วง พ.ศ. 2557 – 2563 จากรายงานการวิจัย โดยเรียงตามลำดับเวลา ดังตารางที่ 1
















หมายเหตุ. ข้อมูลในตารางได้คัดเลือกข้อมูลมาเพียงบางส่วนของงานวิจัยฉบับสมบูรณ์


ตาราง 1 ตัวอย่างของงานศิลปะ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องในงานศิลปะและการวิพากษ์สังคม และงานวิจารณ์ที่มีประเด็นการวิพากษ์สังคมในช่วง พ.ศ. 2557 – 2563 จากรายงานการวิจัย

 

 

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า พ.ศ.2561 เป็นช่วงเวลาสุกงอมของความอดทนอดกลั้นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลเผด็จการ ที่ทนมาเป็นเวลา 4 ปี จึงทำให้เกิดกิจกรรมการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ สื่อ   ต่าง ๆ พื้นที่ทางศิลปะทั้งในระบบห้องนิทรรศการ และพื้นที่สาธารณะ เกิดการรวมตัวของนักเคลื่อนไหวร่วมกับศิลปิน จนลุกลามไปถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาในช่วงเวลานั้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและนึกไม่ถึงมาก่อน

            จากข้อมูลที่ผู้วิจัยคัดเลือก และรวบรวมมานี้มีความสอดคล้องกับความเห็นของบุคคลที่ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ กล่าวคือ นับแต่เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 แล้วเกิดการแสดงออกทางความคิดเห็นจากประชาชนในมิติต่าง ๆ ทั้งสนับสนุน และต่อต้านนั้น เป็นคนละแบบกับอดีตในช่วงทศวรรษที่ 2540 - 2550 กลุ่มคนที่ออกมาแสดงออกเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เดินตามรอยของคนกลุ่มคนรุ่นก่อนหน้านั้น อีกทั้งแนวคิดของผู้ให้สัมภาษณ์ที่มาจากหลากหลาย เช่น นักวิชาการ ศิลปิน นักวิจารณ์ศิลปะ นักแสดง นักวาดการ์ตูน และภัณฑารักษ์ ล้วนมีมุมมองต่อปรากฏการณ์ในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2553 ที่สอดคล้องกัน โดยให้ความสำคัญต่อการแสดงออกของคนรุ่นใหม่อย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนจากอดีต ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ความเห็นที่มีประเด็นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันคือ เรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์สังคมผ่านงานศิลปะสาขาต่าง ๆ ในช่วงเวลาทั้งก่อน พ.ศ.2557 และ หลัง พ.ศ.2563 เป็นการแสดงออกโดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในเครื่องมือสื่อสาร อินเตอร์เน็ต โดยมีแอปพริเคชันที่สังคมในช่วงเวลานั้น ๆ ใช้ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่มีการปฏิบัติการ หรือแสดงออกจริงในพื้นที่จริง ให้สอดคล้องกับความหมายของการสื่อสารสู่สังคม แล้วใช้สื่อออนไลน์เพื่อส่งสารไปยังผู้รับ ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันนั้นผู้วิจัยก็ได้สร้างสรรค์งานวิพากย์สังคมเช่นเดียวกัน (ภาพ 3-4)

            ผู้วิจัยมีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การใช้ศิลปะวิพากษ์สังคมของกลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งก่อนการรัฐประหาร และหลังการเข้ามาของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้น เป็นกิจกรรมที่ผู้แสดงออกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความพยายามตีความหมายต่อสื่อวัสดุ ความหมายเชิงประวัติศาสตร์ ความหมายเชิงนามธรรม การเลือกสัญลักษณ์แทนการพูด เพื่อควบคุมการสื่อสารไม่ให้เข้าข่ายละเมิดต่อกฎหมาย เป็นการป้องกันตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ศิลปินที่ต้องการสื่อสารด้วยภาษา สื่อภาพสัญลักษณ์อย่างตรงไปตรงมาต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือเหตุการณ์ที่สังคมมีการตั้งคำถามต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรในรัฐบาลเช่นกัน ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การเกิดเวทีทางวิชาการที่มีการนำประเด็นทางศิลปะ การเมือง นำมาผสมผสานสู่การอธิบายให้สังคมเข้าทำความเข้าใจ เนื่องจากปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตนั้น เกิดการแสดงออกของความหลากหลายทางความคิดมากขึ้นกว่าก่อน คนในสังคมไม่ได้พุ่งประเด็นไปที่การเข้ามาของ


รัฐบาลทหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประชาชนที่เป็นนักสร้างสรรค์ทางศิลปะ ได้แสดงความเห็นในเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันในสิทธิพลเมืองด้านต่าง ๆ ที่ควรจะเป็นในสังคมสมัยใหม่

            การแสดงออกด้วยการใช้ศิลปะวิพากษ์การเมือง สังคมไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มนักสร้างสรรค์ ศิลปิน อีกต่อไปแล้ว การปรากฏของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ไล่ลงมาถึงระดับประถมมีให้เห็นอยู่ในปรากฏการณ์ทางสังคม จนทำให้สังคมมีความสั่นสะเทือนต่อการรับรู้ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่ชวนให้ศึกษาลงลึกลงไปถึงการคิดของนักเรียนเหล่านั้น การเลือกสื่อสารในยุคสมัยของพวกเขาที่ใช้ความละมุน ต่อรองกับอำนาจการบริหารประเทศของคณะรัฐบาลในแต่ละประเด็น เช่น เรื่องการศึกษา การเรียนในเนื้อหาที่ไม่ตอบสนองต่อยุคสมัย หรือแม้กระทั่งบทเรียนในหนังสือสำเร็จรูปที่รัฐกำหนดเป็นการศึกษาภาคบังคับ เกิดการค้นคว้าเชิงลึกมากขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับเนื้อหาในรายวิชาว่ามันมีความจริงหรือไม่ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคำจัดกัดความดังประโยคที่ว่า “การปฏิบัติการศิลปะ” หรือ “นักปฏิบัติการทางศิลปะ” โดย ถนอม ชาภักดี (2501 - 2565) โดยเขามีความเชื่อว่า ศิลปะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาขน ซึ่งผู้ที่ให้สัมภาษณ์ในวิจัยครั้งนี้ได้กล่าวถึงประโยคนี้ถึง 4 คน นั่นก็หมายความว่าประเด็นการแสดงออกของประชาชนด้วยศิลปะเพื่อวิพากษ์ต่อสังคมนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในความต้องการแห่งยุคสมัยของคนร่วมสมัยในปัจจุบัน




ภาพ 3

            ผลงานชื่อ Sound of Silence in Thailand ของ ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ณ Lim Hak Tai Gallery, Singapore นำเสนอประเด็นวิพากษ์สังคมจากคำถามของประชาชนต่อรัฐบาลในช่วงเวลาของการวิจัย




ภาพ 4

ผลงานสะท้อนสังคมของ ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ในนิทรรศการ Deconstruction at Mae Fah Liang and Cultural Park เป็นงานศิลปะที่ให้ผู้เข้าชมใช้แสงจากโทรศัพท์มือถือของตนเอง ส่องไปที่ผลงานเพื่อให้เกิดเงาบนผนัง เป็นภาพของกลุ่มผู้เข้าควบคุมประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตามกระแสของศิลปะในประเทศไทยไม่ได้มีด้านใดด้านหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น การเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในประเทศไทยก็ได้มีงานใหญ่เกิดขึ้นโดยกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนของรัฐบาล โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ก็เดินคู่ขนาน สร้างงานใหญ่โตเทียบเคียงกัน คือ Thailand Biennale จังหวัดกระบี่ แต่ต่างที่กลุ่มศิลปินในการแสดงเทศกาลศิลปะ การวิพากษ์ทางสังคมผ่านงานศิลปะมีปรากฏให้เห็นอยู่ในเทศกาลใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาทั้ง Bangkok Art Biennale (ภาพ 5) และ Thailand Biennale ในขณะที่กลุ่มศิลปินที่ต้องการแสดงออกเชิงวิพากษ์สังคม   จริง ๆ ก็ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างกระจายไปในพื้นทีต่าง ๆ เช่น ในจังหวัดขอนแก่น ในงาน ขอนแก่นแมนิเฟสโต้ (ภาพ 6) อย่างไรก็ตาม การที่ศิลปิน นักสร้างสรรค์จะแสดงออกทางการวิพากษ์ได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของกฎหมายพิเศษในช่วงเวลาที่มีกฎหมายของคณะปฏิวัติ เพื่อนำมาใช้ควบคุมและจับกุมกลุ่มศิลปิน บุคคล หรือรายบุคคลให้ไม่สามารถสื่อสารต่อสังคมได้อย่างเสรี ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้แสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง หรืออาจจะแสดงออกในช่วงเวลาก่อนหน้าปี พ.ศ. 2557 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้ามาควบคุมของทหาร จนสามารถตั้งรัฐบาลได้นั้น ก็อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตนเองโดยไม่ออกมาโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็น หลายคนได้รับผลกระทบทางการงานในกรณีของกลุ่มศิลปินที่เป็นทั้งผู้สอนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องเก็บตัวเงียบไม่ปรากฏตนในการแสดงออกบนสื่อออนไลน์ หรือการพูดแสดงความเห็นแต่อย่างใด




ภาพ 5

ผลงาน Law of Journey ของ Ai Weiwei ในเทศการศิลปะ Bangkok Biennale 2020 ที่ BACC มีเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ค่ายผู้อพยพทั้ง 40 แห่ง ใน 20 ประเทศที่เขาไปสำรวจและสร้างผลงานประติมากรรม ซึ่งเป็นผลงานที่วิพากษ์สังคมในประเด็นของโลก



ภาพ 6

                        ผลงานของ ตะวัน วัตุยา ในงาน ขอนแก่นแมนิเฟสโต้ เป็นการรวมกลุ่มของศิลปินเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วงเวลาที่ยังมีการควบคุมการแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วงเวลานั้น


ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจที่สวนทางกันกับการอยู่ภายใต้ความกดดันหรือความเท่าเทียมกันในการแสดงออกความคิดเห็นทางสังคม วิพากษ์การเมืองก็คือ การเติบโตของธุรกิจศิลปะเรื่องการประมูลงานศิลปะในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยมีผู้จัดการประมูลของเอกชน คือ Bangkok Art Auction  แต่มีความคึกคักกันในช่วงหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้วิจัยกำลังดำเนินการวิจัยอยู่นั้น ก็มีการจัดการประมูลขึ้น คือ Exceptional Thai Art ณ ริเวอร์ซิตี้  ซึ่งขัดแย้งกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกลายมีเศรษฐีรุ่นใหม่ต้องการซื้อผลงานศิลปะเพื่อเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ประเด็นนี้ก็น่าศึกษาต่อเนื่องอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตามผลงานศิลปะที่วิพากษ์สังคมก็คงจะไม่สามารถเข้าไปสู่ระบบการประมูลอย่างแน่นอน การจัดประมูลงานศิลปะก็มีการดำเนินการต่อเนื่องมาอีกจนถึงปีที่ พ.ศ. 2566 (ปีที่ผู้วิจัยเขียนบทความ) ยกตัวอย่างเช่น พ.ศ.2565 ในชื่องานประมูล To The Moon ณ ริเวอร์ ซิตี้ มีการประมูลงานของศิลปิน NFT และ The Iconic Treasure  ณ ไอคอนสยาม ในปี พ.ศ.2566 มีงานประมูลในชื่อ The Extraordinaire ณ ไอคอนสยาม ซึ่งมีการเปิดการประมูลงานศิลปะในรูปแบบภาพวาด จนไปถึงงานสตรีทอาร์ต (Bangkok art auction, 2566)

 

 

สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

            ประเด็นการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2557 - 2563 เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจศึกษามาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าที่ทำวิจัยนี้ ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงทำให้เห็นพลวัตที่เกิดขึ้นในการแสดงออกของนักสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบที่ใช้งานศิลปกรรมไปวิพากษ์ต่อสังคม การสรุปผลการวิจัยในครั้งนี้จึงเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนดของการวิจัยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้หยุดอยู่ในเวลาของกรอบการวิจัยเท่านั้น ซึ่งผู้วิจัยดำเนินการทำวิจัยในช่วงปี พ.ศ.2563 – 2564 ตามเวลาของทุนสนับสนุนการวิจัย ดังนัั้นผู้วิจัยจึงขอแสดงข้อสรุปสำคัญตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ

            1. ประเด็นสำคัญของการวิพากษ์สังคมในศิลปกรรมร่วมสมัยไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2557 - 2563 คือ การตั้งคำถามให้สังคมได้คิดตามต่อเรื่องความเท่าเทียมของสิทธิพลเมืองที่ควรจะเป็น การต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจในปี พ.ศ.2557 แล้วยังสืบต่ออำนาจจนสามารถเข้ามาสู่การเป็นรัฐบาล การทำงานศิลปะกับความสัมพันธ์ของสังคมในสถานะการควบคุมของอำนาจรัฐ นอกจากนั้นประเด็นเรื่องของความหลากหลายทางสังคม ทางความคิด ทางเพศ เรื่องสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ก็เป็นประเด็นที่ถูกนำมาสื่อสารในการแสดงออกทางศิลปะ เพื่อวิพากษ์ไม่น้อยไปกว่าทางด้านการเมืองเลย นั่นแสดงให้เห็นว่า คนในสังคมเริ่มให้ความสนใจต่อผลกระทบของชีวิตของประชาชนที่มาจากการได้รัฐบาลไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้คนได้เลือก นอกจากนั้น การวิพากษ์ต่อสังคมผ่านงานศิลปะได้เปลี่ยนไปสู่กิจกรรมในพื้นที่ที่ไม่ใช่ในอาหาร หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ แกลลอรี่อีกต่อไป เพราะนักสร้างสรรค์ นักกิจกรรมต้องการสื่อสารโดยตรงต่อประชาชนด้วยกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนท้องถนน ในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง

            2. ผลลัพธ์จากศิลปกรรมไทยที่มีการวิพากษ์สังคมตั้งแต่ พ.ศ.2557 - 2563 เป็นประเด็นที่ผู้วิจัยพบว่า การแสดงออกของนักสร้างสรรค์ ศิลปินในสาขาต่าง ๆ สามารถทำให้สังคมได้เห็นผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างทรงพลัง จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรีบเค้าควบคุมเพื่อไม่ให้งานศิลปะเหล่านั้นได้เห็นในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผลงานบนผนังกำแพงที่สะท้อนความจริงของคณะรัฐบาลในพฤติกรรมที่น่าตั้งคำถามเกี่ยวกับความร่ำรวยผิดปกติ การใช้สินค้าหรูหรา การมีเครือข่ายเข้าถึงการรับงานให้กับรัฐบาล เมื่อมีภาพปรากฏบนพื้นที่จริงในที่สาธารณะ แล้วมีการถ่ายภาพส่งต่อผ่านสื่อออนไลน์ ก็มีการเข้าควบคุม ลบกลบเกลื่อนผลงานเหล่านั้น

            นอกจากนั้นการแสดงออกของกลุ่มนักเรียนในการต่อต้านการทำงานของรัฐ ที่ควบคุมการประท้วงของนักเรียนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ทำให้ยิ่งเกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัดต่อความไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตามความเห็นทางการเมืองย่อมมีมากกว่าสองด้าน ในกลุ่มที่ไม่ชอบการแสดงออกของนักเรียน เยาวชนก็ย่อมมีความเห็นต่าง หรือตำหนิต่อพฤติกรรม แต่สังคมไทยควรเรียนรู้ประเด็นเรื่อง ความเห็นต่าง การยอมรับฟังซึ่งกันและกัน

 

การอภิปรายผล

         ผู้วิจัยได้พบคำตอบการวิจัยที่น่าสนใจเกินกว่าสิ่งที่ตั้งคำถาม หรือสมมติฐานการวิจัยที่ขอนำมาเขียนในหัวข้อนี้ ในกรอบแนวคิดเรื่องปรากฏการณ์วิทยา เพื่อเข้าใจบริบทของเหตุการณ์เกิดขึ้นต่าง ๆ เพื่อหาความจริงนั้น มีข้อค้นพบในประเด็นของการเกิดขึ้นของกลุ่มศิลปิน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวอย่างมากมาย ปรากฏการณ์มีความแตกต่างจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตยุคทศวรรษที่ 20, 30, 40 กลไกของการขับเคลื่อนสื่อสารด้วยงานศิลปะวิพากษ์สังคมได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก กิจกรรมเกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมาก แต่สามารถสื่อสาร นัดแนะ สร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างรวดเร็วหรือทันเวลา มีการรับรู้ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในลักษณะถ่ายทอดสด จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยและโลกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนสิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐเกรงกลัว เพราะการควบคุมไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างในอดีต

            ปรากฏการณ์การประมูลผลงานศิลปะในสังคมไทยที่เคยมีการจัดขึ้นก่อนหน้านั้นในช่วงปี พ.ศ.2549 ได้มีเอกชนคือ Bangkok Art Auction จัดขึ้นอีกในช่วงปี พ.ศ.2564 (เป็นข้อมูลต่อเนื่องจากกรอบการวิจัย) กลับกลายเป็นเรื่องสวนกระแสต่อสภาพเศรษฐกิจสังคม ที่มีคนตกงานเพิ่มขึ้น ฐานการผลิตของต่างชาติย้ายไปสู่ประเทศอื่น รายได้ประชากรลดลง หนี้สินในครัวเรือนสูงขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า ช่องว่างทางสังคมมีความห่างกันมาก ใหญ่มาก แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยได้มีการนำมาเป็นเรื่องสนทนากันเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามกิจกรรมในลักษณะนี้แสดงให้เห็นทิศทางของงานศิลปะในประเทศไทยต่างไปจากเดิม นั่นคือมีการประมูลผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์งานศิลปะดิจิทัล NFT รวมทั้งงานศิลปะแบบสตรีทอาร์ต

            ตลอดช่วงเวลาของรัฐประหาร พ.ศ.2557 - 2563 งานศิลปกรรมไทยยังไม่อาจจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นผลงานทัศนศิลป์ การแสดง บทเพลง ภาพยนตร์ การเสวนาทางวิชาการ การวิจารณ์ การวาดการ์ตูน แต่สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นคือประเด็นความหลากหลายที่นอกเหนือไปจากเรื่องการเมือง เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสิทธิพลเมืองกับการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ความปลอดภัย สุขภาพ การศึกษา ความเท่าเทียม สิทธิในการกำหนดการเรียนรู้ของประชาชน การค้าขาย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้พอจะทำให้เห็นความจริงได้หรือไม่ว่า สังคมไทยมีความละเอียดซับซ้อน และคนในสังคมมีความเข้าใจต่อเรื่องการสื่อสารเพื่อให้ความรู้ด้วยกันเองในสังคม ที่ไม่ใช่มาจากรัฐเป็นศูนย์กลางในการกำหนด หรือการควบคุมต่าง ๆ อีกต่อไปแล้ว

            ปรากฏการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มนักปฏิบัติการทางศิลปะ ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรมสัมพันธ์กับชุนชน การมีกิจกรรมร่วมกันของคนในพื้นที่โดยผ่านการสื่อสารด้วยการละคร ทัศนศิลป์ ดนตรี โดยค้นคว้าเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ความคิดของคนในสังคมไทย อีกด้านหนึ่งเพื่อให้คนร่วมสมัยในปัจจุบันได้รู้ เข้าใจต่อบริบทของสังคม ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปรากฏในตำราเรียนศิลปะของประเทศไทยอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหมุดของประวัติศาสตร์ในสังคมไทยที่ต้องนำมาวิเคราะห์ วิพากษ์กันต่อด้วยเช่นกันเพราะผลที่เกิดขึ้นในเรื่องของศิลปะกับสังคม ชุมชน กับการปฏิบัติการทางศิลปะนี้ เป็นเรื่องราวความแตกต่างจากการรับรู้ในสังคม แต่สิ่งที่น่าสนใจในความเห็นของผู้วิจัยคือ ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ มักใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้ดูเข้ามาเป็นกระบวนหนึ่งของการสร้างสรรค์งานศิลปะ หลาย ๆ คนต้องการให้คนดูเข้ามาเป็นองค์ประกอบของผลงาน สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างการรับรู้ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่กลุ่มนักปฏิบัติการศิลปะ กลับมุ่งสื่อสารประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ของคนอีสานที่ถูกบิดเบือนหรือปิดบัง ให้หายไปกับเวลา นี่คงเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญของการทำงานศิลปะที่ต้องการให้สังคมในท้องถิ่นเลือกที่ทำความเข้าใจความสำคัญของตนเองที่แตกต่างไปจากชุดข้อมูลที่เคยรับรู้มาก่อน

 

ข้อเสนอแนะ

         การวิจัยครั้งนี้จำกัดเวลาของการค้นข้อมูลในช่วง พ.ศ.2557 - 2563 เพื่อให้เห็นผลที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของกลุ่มทหาร แน่นอนว่ามันต้องมีเหตุและที่มาก่อนปีที่ผู้วิจัยกำหนด รวมไปถึงมีเหตุการณ์ต่อเนื่องจากกรอบเวลาที่ผู้วิจัยกำหนดเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงยังคงมีความสำคัญต่อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจากผลงานศิลปกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลได้ต่อเนื่องกัน อันจะส่งผลต่อการมองเห็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องกัน

 

เอกสารอ้างอิง

กมล โพธิเย็น. (2564). Active Learning : การจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 19(1), 11-28.

กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย. (2563). โครงการศิลปินร่วมสมัย สู้ภัยโควิด ด้วยจิตสำนึก สาขาทัศนศิลป์ (Fighting Covid-19 with Hearths). สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย.

คิดอย่าง. (21 ก.ย.2561). อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนุญ. Facebook. https://bit.ly/3dnuM5b

เจตนา นาควัชระ. (2560). การวิจารณ์กับทวิวัจน์ข้ามชาติ. คมบาง.

ตะวัน วัตุยา. (ธ.ค. 2014). เด็กเอ๋ยเด็กดี. อิมเมจ https://www.dooddot.com/tawan-wattuya-dek-oey-dek-dee/

นัทธมน เปรมสำราญ. (2562). “เรื่องเล่าย่อยทางการเมืองผ่านสัจนิยมมหัศจรรย์ในผลงานศิลปะร่วม                               สมัยของศิลปินไทยปี 2557-2560.” วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิตสาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชา                                 ทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://ithesis-iir.su.ac.th /dspace/ handle/                                         123456789/2370 

ประกิต กอบกิจวัฒนา. (2015). อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป. https://www.sanook.com/campus/1371151/

ปิยพร อรุณเกรียงไกร. (23 ส.ค.2560). Bangkok Art Biennale 2018 จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะระดับโลก. thestandard. https://bit.ly/3QlQOUv

พลเมืองโต้กลับ. (24 ธ.ค.2559). พลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “กินข้าวหลามเฉย ๆ” ร้องปล่อยตัว “ไผ่ดาวดิน. https://www.matichon.co.th/politics/news_405679

พานไหว้ครู. (14 มิ.ย.2562). พานไหว้ครู : ล้อการเมืองกับพิธีไหวครูเปิดกว้างทางความคิดหรือผิดกาลเทศะ. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/48632847

พิเชษฐ กลั่นชื่น. (2014). WE VOTE. https://youtu.be/C-Qevj97Pxs

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา. (14 พ.ค.2563). ศิล-ปะล่ะ ตามหาความจริง กับการแสดงออกทางการเมืองอย่างมีศิลปะในไทย. Waymagazine. https://waymagazine.org/art-of-politic/

รายงานเสวนา. (14 ก.ค.2558). รายงานเสวนา: ศิลปะ เสรีภาพ กับการเมือง. https://prachatai.com/journal/2015/07/60356

ศุภชัย อารีรุ่งเรือง. (2561). ประเด็นในศิลปะไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สันติศิริการพิมพ์. อ้างถึง

            สัมภาษณ์ กำจร สุนพงษ์ศรี, บ้านถนนสรรพาวุธ กรุงเทพมหานคร, 11 พฤษภาคม 2561.

สัตตะ. (17 ธ.ค.2559). ปฏิบัติการศิลปะเชิงสังคม. https://www.youtube.com/watch?v=xXZ2de6SeLc

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (25 มิ.ย.2562). อรุณ วัชระสวัสดิ์ : 5 ทศวรรษประวัติศาสตร์การเมืองผ่านการ์ตูน. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-48755910

85 ปีปฏิวัติสยาม. (24 มิ.ย. 2560). 85ปีปฏิวัติสยาม: การตีความประชาธิปไตยไทย ณ เวทีศิลปะโลก. BBC.

 

Bangkok art auction. (2566). การประมูล. https://www.bangkokartauction.com/en/the-iconic-treasure-2023

BBC NEWs ไทย. (2021, 5 มกราคม). แร็ปต้านเผด็จการ: รัฐบาลไทยสั่งยูทิวบ์ระงับการเข้าถึงเอ็มวีเพลง “ปฏิรูป ของศิลปินกลุ่ม RAD. https://www.bbc.com/thai/thailand-5554

Nattatiti K. (25 ส.ค.2563). ถนอม ชาภักดี พื้นที่ศิลปะคือพื้นที่แห่งเสรีภาพ. Sanook. https://shorturl.asia/jYJ4V

On-Site Chiang Mai. (25 พ.ย. 2560). On-site Chiang Mai Symposium: Art, Media and Design in Social Contect. Facebook. https://bit.ly/3P0JRXJ

Thomson, E. M. (1999). Thorstein Veblen at the university of Chicago and the socialization of aesthetics. Design Issues, 15(1), 3-15. as cited in Tufts, J. H. (1903). On the Genesis of the Aesthetic Categories. The Philosophical  Review, 12: 1 (67), 1. In Herrero, M., & Inglis, D. (2009). Art and aesthetics. Routledge.

Tusocant. (29 ต.ค. 2561). ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน. Facebook. https://bit.ly/3QOlC0h

Wantanee Siripattananuntakul. (2015). สถานะอันน่าขื่นขัน. http://                                                       exhibition.contestwar.com/node/873

Wurkon. (18 ต.ค. 2561). ขอนแก่นเมนิเฟสโต้. Facebook. https://shorturl.asia/TjWFZ

ดู 32 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page