top of page

การสอนลายไทยวิถีที่ไม่เดินตามครู

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำการสอนในวิชาศิลปะไทยในสาขาวิชาศิลปศึกษา มศว เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเค้าสอนกันแบบนี้แน่นอนครับเพราะตลอดช่วง5 ปีมานี้ ผมทดลองการสอนด้วยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันจนกระทั่งถึงปีนี้เทอม1 ปีการศึกษา 2562 ได้พิสูจน์ข้อสมมติฐานที่ผมตั้งต้นเอาไว้ว่าสิ่งที่คิดครุ่นคิดมันเป็นเรื่องจริง


หากมิตรรักแฟนคลับที่ได้ติดตามการสอนของผมในวิชานี้ก็เห็นแล้วว่าผมตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าเราเริ่มสอนให้นักเรียนได้รู้และฝึกปฏิบัติการวาดการเขียนลวดลายไทยกันมาแบบผิด ๆ นักเรียนจึงไม่สามารถต่อยอดทางความคิดในการนำพื้นฐานของลวดลายไปใช้งานจริงได้


สอนผิดในที่นี้คือการให้นักเรียนลอกตามแบบโดยไม่อธิบายรากฐานที่มาของลวดลายว่าลายที่ซับซ้อนนั้นมันมาได้อย่างไรและซ้อนกันอย่างไรเพราะลายไทยมันมีมิติไม่ใช่เป็นศิลปะแบบแบน ๆ อย่างที่เข้าใจกันมายาวนานทีนี้ผมจะเขียนอธิบายการทดลองหรือจะเรียกว่า workshop ก็ได้ครับ


การทดลองในห้องเรียนของวันนี้ผมให้นิสิตซื้อผักกาดขาวมาหนึ่งหัวในราคา 49 บาทในร้านสะดวกซื้อครั้งแรกที่เข้าห้องเรียนเมื่อเห็นผมนำหัวผักกาดขึ้นมาวางบนโต๊ะทุกคนก็คาดเดาว่าผมจะสอนอย่างไรบางคนเดาว่าผมจะเอามาแกะสลักหรือไม่ก็เอามาเป็นแบบวาดรูป


พอผมพร้อมเริ่มสอนผมจึงตั้งคำถามให้นิสิตได้คิดตามพร้อมเปิดภาพงานแกะสลักหินทับหลังสมัยเขมรที่ผมถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งตอนนี้ปิดซ่อมบำรุงห้องนี้อยู่ เพื่อให้นิสิตได้เห็นมิติของลวดลายที่เป็นรากฐานก่อนจะพัฒนาการมาสู่ลายสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ แล้วอธิบายเน้นย้ำวิธีการมองให้เป็นสามมิติไม่ใช่มองแต่เส้นรูปร่างของลายเพียงเท่านั้น


หลังจากนั้นผมก็ให้นิสิตแกะใบผักกาดออกทุกใบแล้ววางเรียงบนโต๊ะ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นลักษณะของใบที่เรียงกันตั้งแต่ใบขนาดเล็กไล่ไปจนถึงใหญ่สุด

ขั้นตอนต่อไปผมก็ร่างโครงก้านขดบนแผ่นโฟมหรือจะแผ่นอะไรก็ได้ขอให้มีสีที่ตัดกับผักกาดเพื่อนำใบผักกาดมาจัดวางเรียงไปตามโครงร่างโดยผมตัดผักกาดแต่ละใบออกเป็นสองซีกตามแนวยาวซึ่งผมได้จัดวางให้ใบแต่ละใบได้ซ้อนห่อไปแต่ละใบตามลักษณะของลายที่ปรากฏตามตัวอย่างของงานศิลปะแบบเขมรแล้วทำต่อเนื่องให้ใบซ้อนกันสลับไปตามโครงเถาเลื้อยเต็มรูปร่างของกระหนก


หลังจากนั้นผมให้นิสิตจับกลุ่มสองกลุ่มช่วยกันจัดวางแล้วทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเมื่อนิสิตจัดวางเสร็จผมก็จัดไฟเพื่อถ่ายภาพลวดลายที่เกิดจากการจัดวางผักกาด เหตุผลของการจัดไฟเพื่อควบคุมแสงให้เกิดมิติเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องมิติแสงและเงาของลวดลาย ปรากฏว่านิสิตสามารถทำตามทีละขั้นตอนแล้วก็สามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง


ขั้นตอนต่อไปคือผมนำภาพถ่ายมาเปิดในคอมพิวเตอร์เพื่อสาธิตการวาดเส้นหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสร้างลวดลายซึ่งการวาดในคอมพิวเตอร์จะช่วยให้การทดลองง่ายขึ้นเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์รวมทั้งเมาส์ปากกาก็สามารถพรินท์ภาพแล้วใช้กระดาษไขวางทาบวาดทับก็ได้เช่นกัน


ผมขออภิปราย

กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่นิสิตได้เห็นมิติของการก่อเกิดลวดลายอย่างแท้จริงแล้วเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความกระจ่างชัดในการศึกษาลวดลาย เป็นกระบวนการที่ไม่ทำตามอย่างการสอนแบบที่ทำทีนี้ขั้นตอน จากกระบวนการนี้ผมก็ให้การบ้านนิสิตให้ทุกคนลองหาสื่อวัสดุอื่น ๆ มาจัดวางแล้วนำมานำเสนอในชั้นเรียนครั้งหน้า











ดู 72 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page