top of page

ความงามและความน่าเกลียด กับศิลปะในความเข้าใจของสังคมไทย

ความงามและความน่าเกลียด กับศิลปะในความเข้าใจของสังคมไทย


ความสวยงาม ความงาม คุณค่า เป็นคำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้ขยายความรู้สึกต่อสิ่งที่เรามักจะชื่นชอบอะไรบางสิ่งบางอย่าง หรือการนำมาใช้ประเมินคุณค่าให้กับวัตถุสิ่งของรวมไปถึงคุณค่าของมนุษย์ และงานศิลปะ เร่ืองของความเข้าใจของ ความงาม เป็นเรื่องที่อยู่บนพื้นทางฐานความรู้ของสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นชุดความรู้ในตะวันตกที่เรารับมาใช้เป็นกระบวนทัศน์สำหรับการประเมินคุณค่า การตีความ การทำความเข้าใจต่องาน “ศิลปะ” ซึ่งคำว่าศิลปะก็ยังคงเป็นคำศัพท์ในสังคมไทยที่เรารู้จักมาไม่เกิน 8 ทศวรรษหากจะนำไปเปรียบเทียบกับความรู้ในเรื่องสุนทรียศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาตะวันตกที่มีการถกเถียงกันมาเป็นพันปีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ความเข้าใจในเรื่องของศิลปะในสังคมไทยก็ยังคงมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งความเข้าใจเรื่อง สุนทรียศาสตร์ก็ยังคงเข้าใจว่าคือ ความงาม เพียงเท่านั้น

หากความเข้าใจของคนในสังคมไทยมีเข้าใจความหมายของคำว่า สุนทรียศาสตร์ คือความงามเท่านั้น นั่นก็ย่อมส่งผลไปถึงการเข้าใจความหมายของ ศิลปะ คือส่ิงที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความงาม ความสูงส่ง การทำให้จิตใจงดงาม การทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ นักปรัชญาทั่วโลกต่างถกเถียงประเด็นเรื่อง ความงามและความน่าเกลียด ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนมีคำถามต่อการรับรู้ของคนในสังคมไทยเรื่อง ความงามและความน่าเกลียด ในงานศิลปะว่าคืออะไร หากงานศิลปะที่ได้นำเสนอมุมมองที่ไม่เคยคาดคิด ภาพน่าเกลียดน่ากลัว ภาพการท้าทายต่อการตีความหรือการทำความเข้าใจ ว่างานศิลปะเหล่านั้นยังคงเป็นงานศิลปะหรือไม่


ในความหมายของความงาม Immanuel Kant ได้เขียนหนังสือ Critique of judgment หรือการตัดสินคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ ซึ่งได้อธิบายความคิดในการตัดสินความออกเป็น 2 ประเด็นคือ The Beautiful และ The sublime สรุปได้ว่า The Beautiful ความงามที่หาอะไรมาเปรียบเปรยได้ ความงามอยู่ที่ตัวศิลปะซึ่งเป็นผู้ตัดสินตัวมันเองเป็นความงามที่อยู่บนฐานของการรับรู้ที่สร้างขึ้นมาได้ แต่ความหมายของ The Sublime ซึ่งเป็นคำจากภาษาลาติน Sub คือสิ่งที่อยู่ข้างใต้ และ lemen คือส่ิงที่ถูกอัดอยู่ในกรอบ ในภาษาลาตินเมื่อเอาคำที่ีมีความหมาย negative มารวมกัน ความหมายจะเป็นตรงข้าม จึงหมายถึง ความงามที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่สามารถหาอะไรมาเปรียบเปรยได้และไม่มีเงื่อนไข (1)


ความสับสนต่อสภาวะสมัยใหม่ในสังคมไทยในช่วงการเรียนรู้จากโลกตะวันตก เสมือนกับสิ่งแปลกปลอมเมื่อมันปรากฏรูปลักษณ์ในพื้นที่สาธารณะ ในกรณีของการปรากฏภาพเปลือยบนหน้าหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.2479 ซึ่ง สมเด็จฯกรมพระยานริสรานุวัดติวงศ์ได้เขียนจดหมายถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีใจความเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆในกรุงเทพฯหรือสี่งปลอมแปลงในยุคนั้นสังคมได้เรียกสิ่งนั้นว่า “วิทยาศาสตร์” ส่วนภาพคนแก้ผ้าเรียกว่า “ศิลปะ”มีคนฟ้องร้องว่าเอารูปอนาจารลงพิมพ์ โดยที่สำนักพิมพ์ได้ให้เหตุผลว่าไม่ใช่รูปอนาจาร แต่เป็นรูปที่แสดงรูปทรงงดงามโดยธรรมชาติ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจึงรอดมาได้ (2) การเกิดขึ้นของภาพเปลือยไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างไร้ที่มาและเหตุผล เนื่องด้วยระบบการศึกษาในสถาบันศิลปะที่มีมาก่อนหน้านั้นคือโรงเรียนเพาะช่างได้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2456 และมหาวิทยาลัยศิลปากรก็กำลังฟักตัวรอถือกำเนิดในปี 2486 ก็น่าจะมีส่วนทำให้เกิดการรับรู้งานศิลปะประเภทภาพเปลือยมาก่อน อย่างไรก็ตามงานศิลปะภาพเปลือยก็เข้ามาในประเทศไทยแล้วตั้งแต่ปี 2440 (3) เพียงแต่งานศิลปะเหล่านั้นยังไม่เป็นที่พบเห็นในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่การศึกษาทางศิลปะเหมือนในปัจจุบันที่เราได้เรียนรู้ แต่การรับรู้ของสังคมไทยก็ยังคงมีมโนทัศน์ในเรื่องศิลปะต้องเป็นสิ่งสูงส่งตามกรอบคิดของพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง


การที่สังคมไทยไม่เข้าใจในเรื่องของความอัปลักษณ์ในงานศิลปะไทยร่วมสมัยนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายครา เมื่อศิลปินได้นำเสนอผลงานที่ตนเองได้ ตีแผ่ประเด็นปัญหาของสังคมฝ่านความน่าเกลียดต่อสังคม ภายหลังจากนั้นจึงทำให้มีกระแสวิจารณ์ต่อผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ว่าศิลปินมีไร้ศีลธรรมจรรยา การลบหลู่ต่อสถาบัน ความท้าทายต่อตัวบทกฎหมาย แต่ว่าไม่มีการวิจารณ์กันให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงในเชิงสุนทรียศาสตร์ ในขณะที่สื่อด้านอื่นๆก็นำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน เช่น ภาพข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวีโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต แต่เมื่อศิลปินได้หยิบยกประเด็นเหล่านั้นมาทำงานศิลปะ ก็มักจะได้รับการให้คุณค่าในเชิงลบ และเหยียดหยามไปทันที (4)

ศิลปะแบบประเพณีเป็นงานที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องบนฐานคิดจากศาสนาเป็นศูนยกลางทางความคิด การแสดงความงดงาม สูงส่ง ปรากฏชัดเจนในปราสาทราชวัง กำแพงเมือง ป้อมปราการ ที่มีทั้งบนโลกมนุษย์ ในสวรรค์จากภาพไตรภูมิ สร้างจินตนาการให้พุทธศาสนิกชนได้มีเป้าหมายในชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่ความสุขในโลกหน้า อีกทั้งเหล่าเทวดา นางฟ้า ที่ล้วนมาจากภาพชนชั้นกษัตริย์เมื่อยามฉลองพระองค์เต็ม อีกทั้งผิวพรรณผ่องศรี ขาวนวล ในขณะที่ภาพกาก ซึ่งเป็นภาพคนชาวบ้านธรรมดารอบกำแพงเมือง ที่เดินใช้ชีวิตอยู่ ทำมาหากิน หาบน้ำหาบของ ผิวพรรณดำคล้ำบ้าง สีเทาบ้าง สีเขียวคล้ำบ้าง เพื่อแทนชนชั้นล่างในสังคม หน้าตาดูหน้าเกลียดเหี่ยวย่น คิ้วขมวดชวนนึกว่าเป็นคนลำบาก ไม่มีความสุข แต่ผิดแผกแตกต่างจากชนชั้นสูงในภาพจิตรกรรมที่นั่งอมยิ้มมุมปาก ดวงตาสงบนิ่งมีความสุข สุภาพ สุขุม ไม่แสดงท่าทางที่ลุ่มล่าม ให้น่ารังเกียจ ดังนั้นงานศิลปะแบบประเพณีในประเทศไทยจึงแสดงออกอย่างเด่นชัดด้วยการใช้ความงามและความน่าเกลียดเป็นภาพแทนของชนชั้นในสังคม


จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ได้กล่าวไว้ใน ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 14 ในหัวข้อสาระสำคัญในงานจิตรกรรมไทยประเพณี (5) จิตรกรรมฝาผนังของไทยโบราณไม่ปรากฏการอธิบายถึงเนื้อหาสาระ หรือวัตถุประสงค์การวาดภาพเหล่านั้น แต่ จุลทัศน์ ได้อ้างถึงจดหมายเหตุของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า รูปเขียนนอกจากงามแล้วต้องมีธรรมะอยู่ในนั้นด้วย หรือการเขียนไว้ให้เป็นที่สังเวชสลดใจ หรือเรียกว่า ธรรมสังเวช หมายความว่า ความสลดใจ ความกระตุ้นให้คิด ความรู้สึกเตือนสำนึก ทำให้จิตใจสำนึกมาที่สิ่งที่ดีงาม เกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป หรือ ความสังเวชในธรรม เมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร

การแสดงภาพธรรมสังเวช เป็นแนวคิดหลักที่สอดแทรกในงานจิตรกรรมฝาผนังของไทยก็เพื่อให้เห็นภาพตัวอย่างการสอนหรือการทำให้ระลึกถึงโดยชีวิตปกติ ซึ่งภาพเหล่านั้นมักจะเลือกตำแหน่งแห่งที่ในการจัดวางองค์ประกอบภาพ ให้อยู่ในมุมมืด ของภายในอาคาร เช่น ผนังด้านหลังพระพุทธรูป พระประธาน ซึ่งเป็นมุมมืดจากแสงด้านหน้าประตู เมื่อเข้าไปในตำแหน่งนั้นก็ทำให้เกิดความรู้สึกรับรู้ถึงความน่ากลัว น่าเกลียดด้วยภาพนรก ภาพการทรมาน ภาพสัตว์ร้าย ที่เข้ามาฉก จิก กัดร่างกาย การทรมานร่างกาย จึงทำให้ภาพลักษณะนี้เป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคน และมีผลต่อการรับรู้ของศิลปินไทยในยุคหลัง 2520 เป็นต้นมา ที่มักจะนำเรื่องราวทางศาสนามาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัย นับตั้งแต่ภาพมารผจญ ภาพนรก ภาพความทรมานของคน ธรรมะในสังคมไทยที่ดูราวกับจะบอกว่า ความน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ไม่ไกลจากคนในสังคม

ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินไทยเลือกนำความน่าเกลียดมาใช้เป็นภาพแทน เสียดสีในเรื่องต่างๆของสังคม การเมือง ศาสนา ครอบครัว ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงใช้ประเด็น เนื้อหา รูปแบบตามประเพณีที่เคยทำกันมา ถึงแม้ว่าในบางยุคสมัยภาพจิตรกรรมฝาผนังได้เป็นพื้นที่บรรจุภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การสร้างจิตสำนึกเรื่องชาติ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ตาม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงสืบต่อแนวคิดเรื่องศาสนา รูปแบบประเพณีของภาคกลางเอาไว้เป็นแบบแผน


ประเด็นเรื่องความเสื่อมสลายของของวัฒนธรรม สังคม ก็ได้รับการนำมาเป็นประเด็นในการสร้างผลงานที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกน่าเกลียด ด้วยรูปทรงที่ถูกบิดเบือนการผสมสรรพสัตว์นานาเข้าไว้ด้วยกัน การทำให้ดูเสื่อมสลาย ผุพัง ซึ่งศิลปินได้สะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคมเป็นหลัก ซึ่งเป็นการทำให้เห็นว่าศิลปินมีจิตสำนึก และมองโลกที่เป็นจริงที่เกิดผลกระทบต่อตนเองต่างจากโลกในอดีต ที่เป็นโลกอันอุดมสมบูรณ์คือโลกอุดมคติที่ไกลและยากเอื้อมถึง เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาต่างๆมีความซับซ้อนกันมากขึ้น นี่คือส่งที่ทำให้เห็นศิลปะไทยร่วมสมัยในปัจจุบันได้ก้าวมาจากอดีต ไม่ได้อยู่แต่ในกรอบคิดเชิงศาสนา สถาบันอีกต่อไป


ทุกวัฒนธรรมมีแนวคิดของตนเองในเรื่องของความงามและความคิดเรื่องความน่าเกลียดจนบางครั้งความน่าเกลียดนั้นก็ได้รับการยกย่องให้มีคุณค่าในงานศิลปะ จากภาพหน้าสัตว์ที่น่ากลัวและภาพสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ (6) ในงานศิลปะได้สร้างสรรค์ความน่าเกลียด ปีศาจ ให้มีความสวยงามด้วยภาพแทนต่างๆจากการวาดเส้น ระบายสี เมื่อเวลาได้เห็นผลงานเหล่านั้นเราก็ยังกล่าวออกมาว่าภาพนั้นมีความสวยงาม ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพนรก คนถูกทรมาน จึงมีคำถามง่ายๆเลยว่า ความน่าเกลียดมาเติมเต็มให้ธรรมชาตินั้นสมบูรณ์หรือไม่ อีกทั้งการแสดงภาพความน่าเกลี่ยดน่ากลัวในงานศิลปะ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าศิลปะได้แสดงความสวยงามในความน่าเกลียดรวมทั้งความน่าเกลียดก็เป็นสิ่งที่ความงามต้องการมันด้วยในเวลาเดียวกัน (7) ซึ่งจะว่าไปแล้วการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความน่าเกลียดในงานศิลปะของสังคมไทยก็ต่างได้รับการนำเสนอที่ปรากฏในตัวงานมาโดยตลอดระยะเวลาที่มีการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่เพียงแต่ผลงานศิลปะจากโลกตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ในงานศิลปะไทยนั้นการรับรู้ความงามและความน่าเกลียดล้วนปะปนกันอยู่อย่างเป็นเอกภาพ ไม่ได้แยกส่วนหรือการสร้างขั้วบวกขั้วลบ ด้านมืดหรือด้านสว่าง ก่อนที่งานศิลปะจะแยกตัวออกมาจากศาสนามาสู่ปัจเจกชนในช่วงสังคมไทยรับแนวคิดสมัยใหม่จากตะวันตก งานศิลปะไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจิตรกรรมล้วนอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวหรือการเก็บงานศิลปะนั้นไว้ดูคนเดียว เช่นงานจิตรกรรมในอาคารทางพุทธศาสนาที่มีภาพแสดงให้เห็นโลกุตระ และโลกแบบโลกิยะเป็นห้วงเวลาเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน เมื่อภิกษุได้มองเห็นพร้อมกับการเพ่งมององค์ประธานด้วยสายตาสงบนิ่ง พร้อมกับการนั่งอยู่ภายในพื้นที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงให้เห็นความงามจากการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม เส้นสายวิจิตรบรรจง สีทองที่ลอยเด่นท่ามกลางความสลัวที่พอจะมองเห็นสิ่งต่างๆในงานจิตรกรรม ประติมากรรม ด้วยการออกแบบช่องแสงให้พอเหมาะพอดีระหว่างความสูงของประตูเมื่อเทียบกับความสูงของพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร สิ่งเหล่านี้คือการกำหนดสุนทรียภาพในงานศิลปะไทยที่มีความแตกต่างจากสุนทรียภาพแบบตะวันตก หรือแม้กระทั่งมีภาพเปลือยกายปรากฏ และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดในจิตรกรรมฝาผนัง แต่ด้วยแนวคิดของสังคมยุคปัจจุบันกลับไปตีความภาพเหล่านั้นว่าไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามการรับรู้ของคนในสังคมไทยยังคงอยู่ในโลกทัศน์ของความงามแบบสูงส่งจนอาจจะไม่สามารถแยกระหว่างความงามจากกรอบความคิดของศาสนาออกจากความงามในโลกิยะได้ งานศิลปะในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถออกจากกรอบคิดในลักษณะดังกล่าวได้ เมื่อศิลปินทำงานในเชิงประเด็นด้านอื่นๆนอกจากงานศาสนา จึงไม่สามารถสร้างการรับรู้ของสังคมให้เห็นความงามในความน่าเกลียด สุนทรียภาพในความน่าเกลียด คนในสังคมจึงปฏิเสธงานศิลปะในแบบนั้นออกไป ซึ่งงานที่แสดงออกให้เห็นถึงความเจ็บปวด งานสะท้อนเรื่องของชนชั้น งานที่สะท้อนเรื่องของความน่าเกลียด ก็สามารถที่จะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสะกดอารมณ์และความรู้สึกของคนในสังคมไทยได้เช่นกัน


[1]เกษม เพ็ญพินันท์. (2556). Seminar in Philosophy and Aesthetics in Fine Arts [เว็บไซต์] https://issuu.com/prachya/docs/aesthetics

[2]มูลนิธิสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ . สาส์นสมเด็จ เล่ม10. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.130

[3] อภินันท์ โปษยานนท์.(2535).. จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก 1-2. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ๊งกรุ๊พ.

[4] ศุภชัย อารีรุ่งเรือง. (2561). ความงามและความอัปลักษณ์ในงานศิลปะไทยร่วมสมัย. [เว็บไซต์] https://www.supachaiareerungruang.com/content/19417

[5] จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2552). งานจิตรกรรมไทยประเพณี. ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่14. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 14

[6] Eco Umberto. (2008). History of Beauty. Italy: G. Canale, Borgaro Tornese. 131.

[7] Eco Umberto. (2008). History of Beauty. Italy: G. Canale, Borgaro Tornese. 148.


ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page