top of page

ความงามและความอัปลักษณ์ในศิลปะไทยร่วมสมัย

ความเข้าใจในเชิงสุนทรียศาสตร์ต่องานศิลปะไทยแบบประเพณี แบบศิลปะไทยร่วมสมัย ในสังคมไทยนับว่ายังคงมีความเข้าใจไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก ประเด็นเรื่องนี้มักจะพบเห็นการวิจารณ์งานศิลปะไทยโดยทั่วไปว่า จะต้องมีเรื่องของความงาม (Beauty)  จึงจะเป็นงานศิลปะ ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เขียนได้ตั้งคำถามต่อผู้เรียนในความหมายของคำว่าสุนทรียศาสตร์ หรือสุนทรียภาพ ผู้เรียนมีความเข้าใจว่าอย่างไร เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้คำตอบว่า คือความงาม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสุนทรียศาสตร์คือการรับรู้และประสบการณ์ ผู้เขียนจึงมีคำถามต่อไปยังผู้เรียนอีกว่า แล้วสิ่งที่ไม่งามล่ะ คือศิลปะและสุนทรียศาสตร์หรือไม่ คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนมากนักอีกทั้งสร้างความไม่แน่ใจ ผู้เขียนจึงวิเคราะห์เจาะประเด็นการรับรู้ของผู้เรียนได้ว่า การรับรู้ในเรื่องของศิลปะ สุนทรียศาสตร์ ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างยาวนานว่าคือ ความงาม อย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วในงานศิลปะไทยแบบประเพณีตั้งแต่อดีตมักจะมีการวาดภาพสอดแทรกเข้าไปในนั้น เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งที่ไม่สวยงาม ความไม่จีรังยั่งยืน ซากศพ นรกที่มีความโหดร้าย ผู้เขียนมีความเห็นว่าเจตนาในการวาดภาพเหล่านั้นก็เพื่อมุ่งหวังให้ผู้รับได้เข้าใจและตีความต่อความหมายในความจริงของชีวิต ดังเช่น อัมแบร์โต เอโค(Umberto Eco) (2008 : 14) ได้กล่าวว่ามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อความงามและความอัปลักษณ์ในงานศิลปะ ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะเช่นเดียวกันกับประเด็นเรื่อง การศึกษาในรายละเอียดของความงามและความอัปลักษณ์ในงานศิลปะไทย

       การที่สังคมไทยไม่เข้าใจในเรื่องของความอัปลักษณ์ในงานศิลปะไทยร่วมสมัยนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายครา เมื่อศิลปินได้นำเสนอผลงานที่ตนเองได้ ตีแผ่ประเด็นปัญหาของสังคมพานรูปลักษณ์ที่ไม่น่าดู มีความอัปลักษณ์ ความน่าเกลียดต่อสังคม ภายหลังจากนั้นจึงทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ว่าศิลปินมีความคิดอย่างไรในการนำเสนอ และมักจะถูกเชื่อมโยงไปในเรื่องของศีลธรรมจรรยา ความเหมาะสมไม่เหมาะสม การลบหลู่ต่อสถาบัน ความท้าทายต่อตัวบทกฎหมาย  แต่ว่าไม่มีการวิจารณ์กันให้เข้าใจถึง        ความหมายที่แท้จริงในเชิงสุนทรียศาสตร์ ในขณะที่สื่อด้านอื่นๆก็นำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน เช่น ภาพข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวีโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต แต่เมื่อศิลปินได้หยิบยกประเด็นเหล่านั้นมาทำงานศิลปะ ก็มักจะได้รับการให้คุณค่าในเชิงลบ และเหยียดหยามไปทันที

      งานจิตรกรรมไทย  หรือศิลปะแบบประเพณีเป็นงานที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในการทำให้ศิลปะไทยได้สืบต่อ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องบนฐานคิดจากศาสนาเป็นศูนยกลางทางความคิด การแสดงความงดงาม สูงส่ง ปรากฏชัดเจนในปราสาทราชวัง กำแพงเมือง ป้อมปราการ ที่มีทั้งบนโลกมนุษย์ ในสวรรค์จากภาพไตรภูมิ สร้างจินตนาการให้พุทธศาสนิกชนได้มีเป้าหมายในชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่ความสุขในโลกหน้า อีกทั้งเหล่าเทวดา นางฟ้า ที่ล้วนมาจากภาพชนชั้นกษัตริย์เมื่อยามฉลองพระองค์เต็ม ซึ่งคงไม่มีปรากฏในชีวิตประจำวันว่าใครจะแต่งตัวกันอย่างนั้น อีกทั้งผิวพรรณผ่องศรี ขาวนวล แลดูสูงศักดิ์ ในขณะที่ภาพกาก ซึ่งเป็นภาพคนชาวบ้านธรรมดาหรือไพร่ประชาชนรอบกำแพงเมือง ที่เดินใช้ชีวิตอยู่ ทำมาหากิน หาบน้ำหาบของ ผิวพรรณดำคล้ำบ้าง สีเทาบ้าง สีเขียวคล้ำบ้าง เพื่อแทนชนชั้นล่างในสังคม หน้าตาดูหน้าเกลียดเหี่ยวย่น คิ้วขมวดชวนนึกว่าเป็นคนลำบาก ไม่มีความสุข แต่ผิดแผกแตกต่างจากชนชั้นสูงในภาพจิตรกรรมที่นั่งอมยิ้มมุมปาก ดวงตาสงบนิ่งมีความสุข สุภาพ สุขุม ไม่แสดงท่าทางที่ลุ่มล่าม ให้น่ารังเกียจ ทั้งที่จริงแล้วการแสดงอารมณ์และความรู้สึกผ่านท่าทางต่างๆ กลับปรากฏในงานจิตรกรรมของเอเชียจากประเทศต่างๆ และแสดงให้เห็นวิถึชีวิตคนด้วยดันเอง

     จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ได้กล่าวไว้ใน ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 14 ในหัวข้อสาระสำคัญในงานจิตรกรรมไทยประเพณี (2552 : 14) จิตรกรรมฝาผนังของไทยโบราณไม่ปรากฏการอธิบายถึงเนื้อหาสาระ หรือวัตถุประสงค์การวาดภาพเหล่านั้น แต่ จุลทัศน์ ได้อ้างถึงจดหมายเหตุของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า รูปเขียนนอกจากงามแล้วต้องมีธรรมะอยู่ในนั้นด้วย หรือการเขียนไว้ให้เป็นที่สังเวชสลดใจ หรือเรียกว่า ธรรมสังเวช หมายความว่า ความสลดใจ ความกระตุ้นให้คิด ความรู้สึกเตือนสำนึก  ทำให้จิตใจสำนึกมาที่สิ่งที่ดีงาม เกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป หรือ ความสังเวชในธรรม เมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร

       ผู้เขียนมีความเห็นว่า การแสดงภาพธรรมสังเวช เป็นแนวคิดหลักที่สอดแทรกในงานจิตรกรรมฝาผนังของไทยก็เพื่อให้เห็นภาพตัวอย่างการสอนหรือการทำให้ระลึกถึงโดยชีวิตปกติ ซึ่งภาพเหล่านั้นมักจะเลือกตำแหน่งแห่งที่ในการจัดวางองค์ประกอบภาพ ให้อยู่ในมุมมืด ของภายในอาคาร เช่น ผนังด้านหลังพระพุทธรูป พระประธาน ซึ่งเป็นมุมมืดจากแสงด้านหน้าประตู เมื่อเข้าไปในตำแหน่งนั้นก็ทำให้เกิดความรู้สึกรับรู้ถึงความน่ากลัว น่าเกลียด อัปลักษณ์ ด้วยภาพนรก ภาพการทรมาน ภาพสัตว์ร้าย ที่เข้ามาฉก จิก กัดร่างกาย การทรมานร่างกาย จึงทำให้ภาพลักษณะนี้เป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคน สังคม และมักจะนำมาพูดเปรียบเปรยให้คนอยู่ในสติยึดมั่นต่อการทำตามระเบียบของศีลธรรม และมีผลต่อการรับรู้ของศิลปินไทยในยุคหลัง 2520 เป็นต้นมา ที่มักจะนำเรื่องราวทางศาสนามาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัย นับตั้งแต่ภาพมารผจญ ภาพนรก ภาพความทรมานของคนธรรมในสังคมไทยที่ดูราวกับจะบอกว่า ความน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ไม่ไกลจากคนในสังคม

        ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินไทยเลือกนำความน่าเกลียด ความอัปลักษณ์ มาใช้เป็นภาพแทน เสียดสีในเรื่องต่างๆของสังคม การเมือง ศาสนา ครอบครัว ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงใช้ประเด็น เนื้อหา รูปแบบตามประเพณีที่เคยทำกันมา ถึงแม้ว่าในบางยุคสมัยภาพจิตรกรรมฝาผนังได้เป็นพื้นที่บรรจุภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การสร้างจิตสำนึกเรื่องชาติ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ตาม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงสืบต่อแนวคิดเรื่องศาสนา รูปแบบประเพณีของภาคกลางเอาไว้เป็นแบบแผน

       ประเด็นเรื่องความเสื่อมสลายของของวัฒนธรรม สังคม ก็ได้รับการนำมาเป็นประเด็นในการสร้างผลงานที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกน่ากลัว น่าเกลียด อัปลักษณ์ ด้วยรูปทรงที่ถูกบิดเบือนการผสมสรรพสัตว์นานาเข้าไว้ด้วยกัน การทำให้ดูเสื่อมสลาย ผุพัง ซึ่งศิลปินได้สะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคมเป็นหลัก ซึ่งเป็นการทำให้เห็นว่าศิลปินมีจิตสำนึก และมองโลกที่เป็นจริงที่เกิดผลกระทบต่อตนเองต่างจากโลกในอดีต ที่เป็นโลกอันอุดมสมบูรณ์คือโลกอุดมคติที่ไกลและยากเอื้อมถึง เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาต่างๆมีความซับซ้อนกันมากขึ้น นี่คือส่งที่ทำให้เห็นศิลปะไทยร่วมสมัยในปัจจุบันได้ก้าวมาจากอดีต ไม่ได้อยู่แต่ในกรอบคิดเชิงศาสนา สถาบันอีกต่อไปถึงแม้ว่าจะยังคงมีส่วนหนึ่งที่สืบต่อ อนุรักษ์ในแบบประเพณีก็ตาม แต่ความสำนึกถึงการอยู่ร่วมกับในสังคม การรับรู้ถึงปัญหาร่วมกัน หรือสำนึกร่วมก็ได้บังเกิดต่อจิตสำนึกของศิลปินไทยไม่มากก็น้อย

อ้างอิง

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2552). งานจิตรกรรมไทยประเพณี. ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่14. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

นวพรรณ ภัทรมูล. (2559). นรกในจารึกนิรยกถา ตอนที่5 : มหาโรรุวรก. [เว็บไซต์] http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/blog_inside.php?id=17632

Eco Umberto.  (2008). History of Beauty.  Italy: G. Canale, Borgaro Tornese.  

Tul. (2014). จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 36. [เว็บไซต์] http://www.artbangkok.com/?p=31040


ดู 1,365 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page