top of page

งานศิลปะร่วมสมัยของไทยในตำนานที่ National Gallery Singapore


ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

    ห้องนิทรรศการศิลปะของ National Gallery Singapore (NGS) ในนิทรรศการ AWAKENINGS : ART IN SOCIETY IN ASIA 1960S-1990S  ได้ปรากฏงานของศิลปินไทยที่ได้รับการอ้างอิงถึงอยู่เสมอหากจะพูดถึงศิลปินหัวก้าวหน้า หรือการสร้างสรรค์งานแนวทดลองในช่วงปี พ.ศ.2503-2533 อาทิ อภินันท์ โปษยานนท์  มณเฑียร บุญมา  จ่าง แซ่ตั้ง  และสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย ผลงานเหล่านั้นผมมักพบในหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย แต่คราวนี้ผมได้ไปเห็นตัวผลงานจริงๆ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากผมได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์เพื่อติดตั้งผลงานศิลปะของผมเองที่ Lim Hak Tai Gallery ใน Nanyang Academy of Fine Arts ซึ่งเป็นการแสดงเดี่ยว ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน - 21 กรกฎาคม 2562

   ในนิทรรศการที่ผมเขียนถึงนี้เป็นการรวบรวมงานของศิลปินในเอเชียที่มีผลงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมหลายคน ที่น่าสนใจมากๆ ผมจะขอกล่าวถึงงานของ อภินันท์ โปษยานนท์ ก่อนแล้วกันครับ งานที่กำลังแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ เป็นงานชุด สอนศิลป์ให้ไก่กรุง เนื่องจากงานชุดนี้เป็นงานประเภท วิดีโอ เป็นภาพเคลื่อนไหว ผมจึงเคยเห็นแต่ภาพนิ่งเท่านั้นครับ และก็เชื่อว่าหากลองค้นหาในกูเกิล ก็ไม่มีภาพเคลื่อนไหวเพราะผมลองแล้วครับ ดังนั้นผมจึงตื่นเต้นมากที่ได้เห็นงานนี้จริงๆกับตาของตัวเอง

    งานศิลปะของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมานั้น เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าเกือบทั้งหมดเป็นงานประเภท จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ แต่สำหรับงานของ อภินันท์ ชุดนี้คือ สอนศิลป์ให้ไก่กรุง เป็นงานวิดีโอ ซึ่งในประเทศไทย ปี 2528 ก็ยังถือว่าเป็นสื่อใหม่มากๆ และเป็นสื่อที่ต้องใช้ทุนการสร้างสรรค์งานที่มีราคาแพง ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในยุคนั้น ผมจำได้ว่าตอนผมเป็นเด็ก แล้วหากบ้านไหนมีเครื่องเล่นวิดีโอเทปสักเครื่องหนึ่งก็ถือได้ว่าครอบครัวนั้นค่อนข้างมีฐานะดี เพราะในช่วง พ.ศ. 2520 -2530 แค่มีการเปลี่ยนผ่านของทีวีจากจอขาวดำ เป็นจอสีนี่ก็เป็นเรื่องมหรรศจรรย์แล้วครับ แต่การที่ อภินันท์ ได้นำภาพเคลื่อนไหวในจอทีวี ผสมกับการจัดวางให้เป็นผลงานการจัดวาง ในยุคนั้นก็คงจะเกิดคำถามมากมายว่า นี่เป็นงานศิลปะหรือไม่

    สอนศิลป์ให้ไก่กรุง ได้จัดแสดงอยู่ในจอทีวีแบนซ่อนในผนัง ขนาดไม่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับงานของ ศิลปินวิดีโอคนอื่นๆ เช่น งานของ Yoko Ono “Cut Piece” ได้ถูกนำมาจัดแสดงด้วยโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ จึงทำให้การรับรู้ของผมต่องานของ อภินันท์ ค่อนข้างไม่สะเทือนอารมณ์มากนัก ผมจึงมีเพียงความตื่นเต้นที่ได้เห็นงานจริง ซึ่งคุณภาพของภาพวิดีโอก็ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรแล้ว มันจะเหมือนเราได้ดูภาพยนตร์เก่าๆ อะไรประมาณนั้นครับ ในผลงานปรากฏชายคนหนึ่งสวมเสื้อเชิ้ตสีแดง นุ่งกางเกงขาสั้นให้ผมคิดไปถึงเสมือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทยแล้วอากาศร้อน เขานั่งบนผ้า หรือเสื่อสีแสดง ผมไม่แน่ใจเพราะภาพไม่ชัดเท่าไร แล้วห้อมล้อมด้วยลูกไก่หรือลูกเจี๊ยบสีเหลืองสด พร้อมกับมีกรงตะแกรงอยู่ในภาพด้วย  ชายคนนั้นกำลังถือกระดาษภาพโมนาลิซาแล้วทำท่าเสมือนกำลังสอนหนังสือให้ลูกไก่ได้รู้จักว่าภาพนี้คือภาพอะไร อากัปกิริยาของชายที่กำลังสอนไก่นั้นดูอารมณ์ดี ส่วนลูกไก่ก็น่ารัก มันก็เดินไปเดินมาวนผู้ชายที่กำลังสอนศิลป์ให้กับมัน ซึ่งมันคงจะสนใจอยู่ไม่น้อย

    หากจะพิจารณาการเลือกใช้สัญญะ และการอุปมาอุปมัยในสุภาษิตไทยที่มีมาก่อน ในการเปรียบเปรยการให้ความรู้กับสิ่งที่ไม่อาจจะเข้าใจในความรู้นั้น ผมก็พอจะนึกได้ว่ามีอะไรบ้าง เช่น เป่าปี่ให้ควายฟัง สีซอให้ความฟัง เชือดไก่ให้ลิงดู  เป็นต้น จากสุภาษิตนี้จึงทำให้สังคมไทยตีความสรุปเอาเลยว่าสัตว์ที่ค่อนข้างไม่รับรู้หรือเข้าใจเรื่องต่างๆได้ง่ายคือ ควาย แต่นี่อภินันท์ ได้ใช้ ไก่ มาเป็นสัญญะในการอุปมาอุปมัย แล้ว อภินันท์ ก็จงใจใช้สีในงานวิดีโอให้มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่สีมีความเด่นชัด คือ สีเขียวของพื้นหญ้า ผืนผ้าสีแดง เสื้อสีแดง ไก่สีเหลือง ถ้าหากงานชิ้นนี้นำมาแสดงในช่วงปี พ.ศ. 2547 -2557 ก็คงจะเข้าข่าย เรื่องการเมือง เหลือง - แดง เป็นแน่

    ผมก็มองอีกประเด็นหนึ่งนั้นคือ ผลงานชุดนี้ได้วิพากษ์ระบบการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ในประเทศไทย ด้วยชุดความรู้ของศิลปะแบบตะวันตก ด้วยการที่เขาเป็นนักเรียนนอก ไ้ด้เรียนรู้ความก้าวหน้าของวงการศิลปะโลกทั้งในแนวคิดหลังสมัยใหม่และร่วมสมัย และเมื่อนำผลงานนี้มาปรากฏในประเทศไทยที่มีกลุ่มศิลปินหลากหลายแนวก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อวงการศิลปะในประเทศไทยไม่น้อย ซึ่งภายหลังจากงานชุดนี้กว่าจะทำให้สถาบันการศึกษาศิลปะชั้นนำในประเทศไทยยอมรับว่าคืองานศิลปะประเภทหนึ่ง ก็ใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษซึ่งบางแห่งอาจจะยังเป็นโครงการจัดตั้งภาควิชาเสียด้วยซ้ำไป จนมาเร่ิมมีการยอมรับมากขึ้นเมื่อศิลปินหญิงคนหนึ่งสร้างสรรค์งานโดยใช้ตัวเองเป็นสื่อแสดง ให้สะท้อนการถูกกดขี่ของเพศหญิง แทนตนด้วยไม้กวาด ที่ดูดฝุ่น ราวตากฟ้า ด้วยทุนสร้างสรรค์ที่ต้องใช้งบประมาณมาก ถึงจะได้งานอย่างนั้นออกมาได้

    ประเด็นสำคัญของนิทรรศการนี้คือ สิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อเรื่องศิลปะ การสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิดเชิงวิพากษ์สังคม เพราะเขาเชื่อว่าการวิพากษ์คือทางออกต่อการคิดไปสู่การหาหนทางใหม่ การสร้างสรรค์ใหม่ การทำให้มีการยอมรับความคิดต่างกัน ศิลปะเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งแทนความคิดในรูปแบบอื่นๆ แต่ศิลปะมันคือหลักฐานรูปธรรมที่ดำรงอยู่เป็นหลักฐานของกาลเวลา ในช่วงเวลาหนึ่งๆที่คนในสังคมมีความคิดอะไรบ้างต่อสังคมที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะนั้น ดำรงอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะในประเทศไทย หรือแกลลอรี่หลายๆแห่ง หรือแม้กระทั่งคนดูงานศิลปะ ก็ไม่อาจจะชื่นชอบเท่าไรนักต่องานศิลปะประเภทนี้ ผมขอจบไว้เท่านี้ก่อนแล้วจะมาเขียนต่อในงานของคนอื่นๆ ครับ

ดูวิดีโอได้ที่ Facebook page/Supachai Areerungrueng 

ดู 243 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page