top of page

บทความในสูจิบัตร ๕ ศิลปินสตรีกับบทบาทแห่งการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

บทความในสูจิบัตร ๕ ศิลปินสตรีกับบทบาทแห่งการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย

นิทรรศการจัดตั้งแต่วันที่ ๖ - ๓๐  มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

    ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ นับว่าเป็นปีมหามงคลของประเทศไทย ประชาชนได้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อันแสดงให้เห็นขนบธรรมเนียม ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านการรังสรรค์ศิลปะวิจิตรศิลป์ หัตถศิลป์ อย่างงดงาม  สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ งานช่างแบบประเพณีมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าภายหลังการที่สังคม  เปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยทำให้ช่างศิลป์ ศิลปินไทยไม่ได้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากครั้งเก่าก่อนแต่ทว่าพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยก็เจริญงอกงามในวิถีของกระแสธารจากสังคมไทย แต่ก็อาจจะเป็นแบบไทยไทย ซึ่งแตกต่างจากสังคมโลก โดยที่ศิลปินไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ กลุ่มทุน ธุรกิจ หรือความเป็นปัจเจกชนของศิลปินเอง สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ได้นำผลงานของศิลปินหญิงทั้ง ๕ ท่านมาจัดแสดงร่วมกัน เป็นการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจต่อการรับรู้ ผู้เขียนรู้สึกดีใจกับผู้ชมที่ได้เห็นผลงานของศิลปินหญิงในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากศิลปะแบบประเพณีสู่แบบตะวันตกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2440 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้คิดประเด็นนี้ขึ้นโดยทำงานร่วมกันกับมูลนิธิของศิลปินแต่ละท่านจนมาเป็นนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ก็เป็นเสมือนการสะท้อนภาพความจงรักภักดีของศิลปิน ศิลปะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากประจักษ์พยานตัวผลงานศิลปะและประวัติของศิลปิน

    บทความนี้ผู้เขียนขอไม่ประสงค์อธิบายถึงเนื้อหา ความหมาย ในผลงานทุกชิ้นเพื่อชี้นำความคิดอันอิสระของผู้ชมทุกท่าน ด้วยเหตุเพราะผลงานทุกชิ้น เอกสาร และสิ่งของที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นข้อมูลเชิญชวนให้ผู้ชมได้อ่านความคิดของศิลปิน ทำให้จินตนาการเห็นภาพแรงบันดาลใจที่ส่งผลสู่การทำงานศิลปะ ดังนั้นผู้เขียนจึงเขียนด้วยแนวคิดการเชิญชวนผู้ชมให้ดูผลงานศิลปะแล้วตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้เกิดการแตกยอดความคิดไปสู่องค์ความรู้ของแต่ละคน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กำลังทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านศิลปะเพื่อเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาได้ใช้พื้นที่เป็นเสมือนห้องทดลองทางความคิดในการเรียนรู้ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิด การวิจารณ์ แล้วส่งผลให้เกิดความเข้าใจในความหมายของศิลปะ เพื่อให้ความรู้นี้ได้เติมเข้าไปในองค์ความรู้จากคนรุ่นก่อนที่ได้ศึกษาวิจัย แต่ก็มีอยู่น้อยมากหากเทียบกับ จำนวนการแสดงงานศิลปะของศิลปินในประเทศไทย นับตั้งแต่งานวิจัยของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ในเรื่อง ศิลปะหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมาก็ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังได้หยิบอ้างอิงกันต่อๆมา แต่ก็ไม่ได้ตั้งประเด็นคำถามอะไรต่องานวิชาการเรื่องนั้น แต่อย่างไรก็ตามกรอบคิดของงานวิชาการที่ผู้เขียนวิเคราะห์แล้วพบว่า งานวิชาการโดยส่วนใหญ่ใช้กรอบวิธีคิดจากการหยิบยกผลงานของศิลปินในเวทีประกวด แล้วนำเสนอด้วยการรวบรวมรายชื่อและผลงานในแต่ละช่วงสมัย ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง ศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๓๙ เป็นการรวบรวมศิลปินในประเทศไทยส่วนใหญ่เกืือบทั้งหมดเป็นชาย ก็นับว่าเป็นเสมือนจดหมายเหตุด้านศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยที่ให้ข้อมูลมากพอสำหรับให้ผู้สนใจด้านศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยได้ใช้เป็นฐานข้อมูล ซึ่งก็ปรากฏผลงานของศิลปินที่ได้นำมาจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้ ๔ ท่าน ยกเว้นของ ไขมุกด์ ชูโต แต่ก็ยังปรากฏรายชื่อในทำเนียบเช่นกัน หลังจากนั้นก็มีการจัดนิทรรศการศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๙ ศิลปะไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีการจำแนกประเด็นทางศิลปะออกหลายหัวข้อ จากทั้งสองนิทรรศการก็พอจะทำให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับกรอบวิธีคิดโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แต่ก็เริ่มมองเห็นเรื่องเล่าขนาดเล็กๆในประเด็นย่อยทางสังคมมากขึ้นทำให้เห็นว่าศิลปินไทยรับแนวคิดมาทำงานศิลปะในประเด็นทางสังคมชัดขึ้น

นิทรรศการครั้งนี้ได้นำผลงานของศิลปินหญิงทั้ง ๕ ท่านมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น แล้วพิจารณาศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ทั้งทางด้านศิลปะ และสังคมไทย ในมุมมองของผู้เขียนไม่ได้มองว่าผลงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้เป็นแค่เพียงให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสามารถของผู้สร้างสรรค์ ความสวยงามของผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือประวัติอันน่าประทับใจเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระของตัวแทนความคิดจากผู้สร้างสรรค์แต่ละท่านที่ปรากฏในผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการ ย่อมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความคิด ของบุคคลในช่วงเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขณะนี้ ลาวัณย์ อุปอินทร์ เป็นเพียงท่านเดียวที่ยังมาอธิบายเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองก็ตาม ในขณะที่ท่านอื่นๆนั้นคงเหลือไว้เพียงผลงานที่ทรงคุณค่าทางศิลปะเพื่อให้การศึกษากับเรา เพราะผลงานศิลปะคือหลักฐานทางความคิดของมนุษยชาติ ผลงานเหล่านั้นล้วนผ่านกาลเวลาแห่งพลวัตทางสังคมรอบกายของผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อ เทคโนโลยี ล้วนมีผลต่อผลงานที่คงอยู่ให้คนในสังคมแต่ละยุคสมัยได้ศึกษา ตีความ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา อีกทั้งช่วงเวลาของศิลปินบางคนได้ทำงานตลอดอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตก็ยิ่งทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดและความสามารถในการทำงานทางศิลปะด้วยเช่นกัน

   ในฐานะที่ผู้เขียนสอนหนังสือในอุดมศึกษากับหลักสูตรการสร้างครูศิลปะ จึงขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการหาวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยงานศิลปะ ผู้เขียนได้อ่านบทความเรื่อง From the traditional to the Conceptual: The Challenge of Teaching Art Foundations to the Non-Art Major โดย Kellly Frigard, Kim Taylor (2011: 17) จาก University of Cineinnati ในบทความนี้ได้ตั้งคำถามต่อการเรียนรู้ของนักเรียนสำหรับทำความเข้าใจต่องานศิลปะว่า ศิลปะคือความสวยหรือไม่  ความคิดสร้างสรรค์มีหน้าที่อย่างไรในการปฏิบัติงานศิลปะ  ศิลปะเป็นเครื่องมือของสังคมหรือไม่  และผู้สร้างสรรค์งานศิลปะต้องฝึกฝนอย่างไรในการที่จะเป็นมืออาชีพหรือเป็นศิลปิน

   ผู้เขียนขออภิปรายประเด็นคำถามที่หยิบยกมาชวนคิดแล้วนำมาใช้ประกอบการชมนิทรรศการครั้งนี้ว่า คำถามทั้งสี่ข้อนั้นเป็นคำถามเชิญชวนให้วิพากษ์ต่อผลงานศิลปะสำหรับผู้ชมนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ชม ครู อาจารย์หรืออื่นๆ  ผู้เขียนเคยเขียนบทความและเชิญชวนให้ตั้งคำถามเช่นนี้ ในนิทรรศการ ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี เมื่อเดือน พฤศจิการยน ถึง ธันวาคม ๒๕๖๑ ว่าจริงหรือที่ศิลปะคือความสวย และจำเป็นต้องสวยเท่านั้นหรือไม่ แล้วอะไรที่เรียกว่าสวย เราใช้อะไรมาเป็นตัววัด รวมไปถึงงานศิลปะเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นสังคม แต่ในบางครั้ง สังคมก็ช่วยสะท้อนมาสู่งานศิลปะ ยกตัวอย่างเช่น ภาพเหมือนตัวเองของ หม่อมเจ้าพิลัยเลขา ดิศกุล เพียงภาพเดียวก็เชิญชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามได้ ๑๐๘ คำถาม เช่น ท่านวาดจากภาพถ่ายหรือวาดจากกระจกเงาตามอย่างศิลปินในอดีตได้เคยทำมา เป็นต้น ในความเห็นของผู้เขียนสำหรับนิทรรศการครั้งนี้คือ ผู้ชมอาจจะตั้งคำถามง่ายๆว่า ศิลปินทั้ง ๕ ท่านนี้มีอะไรที่ต่างกัน เหมือนกัน อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้งานของแต่ละคนแตกต่างกัน อะไรคืออิทธิพลที่ทำให้ศิลปินได้เลือกแนวทางในการทำงานศิลปะในแต่ละช่วงของชีวิตการทำงาน หากผู้ชมได้ลองทดสอบตนเองในการตั้งคำถามพร้อมๆกับการชมผลงานอย่างพินิจพิเคราะหฺ์ด้วยตาก็อาจจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงประสบการณ์ของตนเองไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

   ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งว่าด้วยเรื่องของการสร้างประสบการณ์ตรงในการได้เห็นงานศิลปะของแท้ ในขณะที่โลกอินเตอร์เน็ตทุกคนสามารถเปิดให้เข้าไปดูภาพเขียนของศิลปินในพิพิธภัณฑ์อีกซีกหนึ่งของโลกได้แล้ว โดยไม่ต้องไปด้วยตนเองก็ตาม แต่ว่าข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งจากมุมมองของผู้เขียนสำหรับนิทรรศการครั้งนี้คือ หากผู้ใดได้ไปเห็นด้วยตาตนเองกับผลงานศิลปะของจริง ผู้นั้นย่อมเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ทางศิลปะ ซึ่ง มีเซียม ยิบอินซอย และ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร ก็ได้ทำให้ผู้เขียนได้รับคำตอบนี้ นั่นคือท่านทั้งสองได้ไปเห็นผลงานของศิลปินในยุโรปด้วยตนเอง จึงทำให้มีความคิดที่ต้องการทำงานศิลปะจากพื้นฐานเดิมของตนเองที่มีอยู่ในตัว แล้วหลอมรวมกับใจรักในศิลปะและมีความสุขที่ได้ทำด้วยความคิดที่เสรี ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของระบบการศึกษาศิลปะอย่างเป็นทางการด้วยกรอบคิดที่มาจากรัฐเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สังคมประชาธิปไตยก็ทำให้เกิดสถาบันการศึกษาให้กับประชาชนได้มีสิทธิเข้าถึงการศึกษากว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีตและเปิดกว้างให้ผู้หญิงได้เรียนรู้เท่าเทียมผู้ชาย

   กล่าวโดยสรุปว่าการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้สร้างสรรค์นิทรรศการครั้งนี้ให้ประชาชนได้เข้าชมและได้เห็นผลงานที่ยังไม่ได้เติมในหน้าประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยนับว่าเป็นการจุดประกายการศึกษาให้แก่วงการศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูอาจารย์ที่มีใจใฝ่ศึกษาคิด วิเคราะห์และมองแบบประวัติศาสตร์ศิลป์  ได้เข้ามาดูนิทรรรศการ แล้วกลับไปค้นคว้า ให้เข้าใจเชิงลึกมากขึ้น เพื่อเขียนหนังสือ เขียนบทวิจารณ์ บทความจนไปถึงแทรกประเด็นในตำรา ให้เยาวชนได้มีความรู้มากขึ้นจากเดิม จากที่มีแต่เนื้อหาผ่านการอ้างอิงมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ตั้งคำถามต่อความรู้เดิมสักเท่าไรนัก ซึ่งทำเนียบรายชื่อศิลปินในประเทศไทยมีเยอะจนผู้เขียนจำไม่ได้หมด หากผู้สนใจอยากรู้ก็เข้าไปหาอ่านเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่มีการศึกษา วิจัยในรายบุคคลเท่าไรนัก และสิ่งที่ไม่มีเลยคือรายชื่อนักวิจารณ์ศิลปะจึงทำให้องค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนวงการศึกษาศิลปะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น

อ้างอิง Frigard, K., Taylor, K. (2011). From the traditional to the Conceptual: The Challenge of Teaching Art Foundations to the Non-Art Major. Aurco Journal, Volume 17,Spring, 39-51.


ดู 78 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page