top of page

ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ในงานศิลปะร่วมสมัย

  “ศิลปินไส้แห้ง” เป็นประโยคที่นำมาใช้กับนักเรียน นักศึกษาทางด้านศิลปะ คำนี้เป็นเสมือนการพยากรณ์ให้เห็นอนาคตว่า คุณจะไม่มีอะไรกินสำหรับวันข้างหน้าที่รออยู่ ประโยคดังกล่าวนี้ได้นำมาใช้ไม่เกิน 80 ปีมานี้ หลังจากการเกิดขึ้นของสถาบันทางศิลปะในประเทศไทย และมีการใช้คำว่า "ศิลปิน" เรียกคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม และอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำมาใช้เรียกบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแสดงในวงการบันเทิง นับตั้งแต่นักแสดงตลก จนกระทั่งนักร้อง ก็เรียกว่า “ศิลปิน” แต่อาจจะไม่ไส้แห้ง คือมีความสามารถในการหาอาหารดีๆ เพื่อเลี้ยงชีพทั้งตนเองและครอบครัว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อาชีพอื่นๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะไส้แห้ง เหมือนศิลปินหรือไม่ในยุคปัจจุบันที่ไม่มีความแน่นอนในระบบการเมืองการปกครอง ในปัญหาเรื่องแรงงานพลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งภาวะโลกร้อนที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตอาหารให้คนในโลกใบเดียวกัน มนุษย์ทุกคนล้วนกลัวว่าตนเองจะไม่มีอาหาร เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ เสริมเพิ่มภูมิคุ้มกัน ดังนั้นอาหารจึงมีค่ามหาศาล อาหารนำมาซึ้งอำนาจ การครอบครองระบบเศรษฐกิจ การครอบครองพื้นที่ นำมาซึ่งการเดินทางและแสวงหาเพื่อการค้า และนำมาซึ่งความเจ็บปวด การค้าทาส การล่าอาณานิคม สุดท้ายคือการทำสงคราม เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากประวัติศาสตร์ในมิติต่างๆล้วนมีความสัมพันธ์กับ “อาหาร” ได้เกิดประดิษฐ์กรรมทางอาหารใหม่ๆ เกิดขึ้นและเกิดการหมดไปของอาหารบางอย่างด้วยเช่นกัน

    มนุษย์พยายามเก็บอาหารภายใต้ความกดดันจากสภาพอากาศที่แตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาคของโลกนี้ “สวาลบาร์ด” (Svalbard global seed vault) คือสถานที่เก็บเมล็ดพันธ์โลก ตั้งบนเกาะสปิตซ์เบอร์เกน (Spitsbergen) ประเทศนอร์เวย์ คือที่เก็บเมล็ดพันธ์ที่ใหญ่และปลอดภัยที่สุดในโลก มีเมล็ดพันธ์มากกว่า 2,000 ล้านเมล็ด ในขณะที่ธนาคารเมล็ดพันธ์แห่งอื่นถูกทำลายเพราะสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือขาดเงินทุนสำหรับการดำเนินการ แม้กระทั่งในแวดวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย “อาหาร” เป็นประเด็นหรือเนื้อหาที่ได้มีการหยิบยก ตีความผ่านผลงานทางทัศนศิลป์โดยศิลปิน จนเป็นคำถามของคนไทยที่ยังอยู่ในภาวะของความเคลือบแคลงกับความหมายของคำว่า “ศิลปะ” เพราะใครจะไปรู้ว่า “ผัดไทย” ที่ทุกท่านเห็นในท้องตลาด ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ที่ตลาดนัดจนถึงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า แต่วันนึงมันถูกศิลปินนำไปเป็นงานศิลปะในการจัดแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติและระดับโลก

   ศิลปินท่านที่ได้กล่าวถึงคือ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีการกล่าวถึงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เมื่อเขาแสดงผลงานศิลปะของเขาด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องครัว พร้อมกับส่วนประกอบในการทำ “ผัดไทย” เข้าไปอยู่ในหอศิลป์มาแล้วทั่วโลก ผลงานของเขาทำให้ผู้ชมงานศิลปะมีส่วนร่วมกับผลงานได้ด้วยการลิ้มรสทางปาก ลิ้น กลิ่น เพราะเขาให้ผู้ชมได้รับประทานผัดไทยกันแบบสดๆ จานต่อจาน ทำให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเรียกจากความเป็น “ชาติ” ผ่านอาหารแบบ “ไทยไทย” หากผู้ชมได้พยายามตีความสิ่งที่เขาได้แสดงผลงาน “ผัดไทย” อาจจะทำให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามสำหรับความนี้ผมต้องการแสดงให้เห็นประเด็น “อาหารกับผลงานศิลปะ” ในงานทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประวัติศาสตร์

   ประเด็นทางประวัติศาสตร์ในกรอบวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์แบบราชวงศ์และสงครามแบบไทย อาจจะทำให้ความเข้าใจเบื้องลึกจากวัตถุประสงค์ของคนในอดีต ในการออกเสาะแสวงหาดินแดนเพื่อการครอบครองเหนืออาณาจักรได้ไม่ชัดนัก ดังนั้นระเบียบวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์จึงควรมีระเบียบวิธีที่ มากกว่าการศึกษาโบราณวัตถุ สถาน แม้กระทั่งการมองปะวัติศาสตร์ในสมัยพระนารายณ์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรมีการหยิบยกประเด็นที่หลากหลาย เพื่อนำมาสู่การสร้าง แนวคิดในการตีความประวัติศาสตร์

   ทอม สแตนด์เอจ (Tom Standage)  เป็นบรรณาธิการด้านธุรกิจของ The Economist มีผลงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ประวัติศาสตร์ในหกแก้ว (A History of the World in 6 Glasses) ได้กล่าวในผลงาน An Edible History of  Humanity เขามองว่า “ประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กับ “อาหาร” ในความสำคัญที่มันสามารถเปลี่ยนแปลงที่มีสาเหตุ ถูกกระตุ้น และมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ อาหารไม่แค่เป็นสิ่งที่กินเพื่ออยู่ แต่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม องค์กรทางสังคม การแข่งขันทางด้านภูมิศาสตร์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และความขัดแย้งทางกองทัพ มันคือสิ่งที่ก่อให้เกิดเรื่องเล่าของคนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

  ภาพในจินตนาการของอดีตที่ผ่านมาในสมัยพระนารายณ์ ผ่านการศึกษาค้นพบหลักฐานเอกสาร ทำให้คนในสังคมปัจจุบันได้รับรู้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งการเจริญความสัมพันธ์กับนานาชาติ สยามเปิดรับโลกสมัยใหม่มาตั้งแต่ครั้งนั้น มีการส่งออกสินทรัพย์ทางธรรมชาติกับประเทศตะวันตกและตะวันออก แต่สิ่งที่ชาติตะวันตกมีความต้องการสินค้าที่มีค่ามากคือ “เครื่องเทศ” ดังเป็นที่ทราบกันดี แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ให้ความสนใจในคำถามที่ว่า “อาหารมีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์โลกอย่างไรบ้าง”

  ผมจึงเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ กับประวัติศาสตร์เชิงมานุษยและประวัติศาสตร์เชิงสังคมศาสตร์ ในประเด็นของความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ในประเทศไทย กระแสหลักกลับหยุดเวลาให้สังคมไทยได้รับรู้ไว้แต่เพียงยุคสมัยในโบราณกาลจนถึงยุคสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่โดยมากพบว่าได้เน้นหนักไปในยุคสมัยต่างๆ เช่น สุโขทัย อยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือไม่ก็เป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ แต่ศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยยังคงมีการศึกษาน้อยรวมทั้งการมองประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มองเป็นประเด็น หรือปรากฏการณ์ แต่เป็นเพียงการจัดลำดับของเวลาเท่านั้น ทั้งๆ ที่การเคลื่อนตัวของงานศิลปะในสาขาทัศนศิลป์ตลอดช่วงเวลา 50 ปีมานี้ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในแบบไทยกระแสหลักและแบบนอกกระแส

  เมื่อเป็นเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์ ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ นักศึกษาประวัติศาสตร์จะนิ่งดูดายได้อย่างนั้นหรือ ในเมื่อสิ่งที่ท้าทายให้ศึกษาเกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แม้กระทั่งศิลปินสาขาทัศนศิลป์ยังให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ จากร่องรอย ภาพทรงจำ เรื่องราวของบุคคล สถานที่ แบบปะติดปะต่อ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาตีความใหม่ ในฐานะของศิลปินสาขาทัศนศิลป์หมายถึงการสร้างภาพแบบปะติดปะต่อเหล่านั้น ให้เกิดภาพที่สัมผัสได้ด้วยตาของคนในยุคปัจจุบัน จากที่ได้กล่าวนำในเรื่องของการมองประวัติศาสตร์ผ่าน “อาหาร” กับการเชื่อมโยงกับศิลปะร่วมสมัย เรื่องทั้งสองกับว่าเป็นคนละเรื่องแต่ว่าบทความนี้ผู้เขียนมองเห็นความน่าสนใจในงานศิลปะสาขาทัศนศิลป์เป็นผลงานของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ผู้ซึ่งเป็นศิลปินในแนวคอนเซบป์ชวลอาร์ต (Conceptual Art) มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ในลักษณะงานในแนวทางเดียวกัน แต่ผู้เขียนไม่นำผลงานมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพราะอยู่ในคนละบริบทกัน เนื่องจากศิลปินท่านนี้นำประวัติศาสตร์ในสมัยพระนารายณ์มาวิเคราะห์ ตีความและเชื่อมโยงกับเนื้อหาประวัติศาสตร์กับยุคสมัยอื่นผลงานของ อริญชย์ ได้นำเนื้อหาประวัติศาสตร์แบบปะติดปะต่อ ภาพทรงจำจากบันทึกลายลักษณ์อักษร ร่วมกับคำบอกเล่าของเหตุการณ์ ผู้เขียนให้ความสนใจในประเด็นที่กล่าวถึงนี้หลายประการ กล่าวคือ ศิลปินได้ทำให้เกิดภาพสะท้อนมิติทางประวัติศาสตร์ และมิติด้านกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะร่วมสมัยเป็นการส่องทางให้แก่กัน เพื่อเปิดพรมแดนให้ศิลปินกับนักประวัติศาสตร์ได้ก้าวข้ามพื้นที่อันศักดิ์สิทธ์ของตนเองเข้าไปสู่พื้นที่อีกฟากหนึ่ง ให้ได้ใช้ศาสตร์ของผู้อื่นได้สำรวจข้อสงสัย หรือหยิบยืมมาสู่การสร้างสรรค์เพื่อหาหรือสร้างประเด็นใหม่ๆ

The Making Golden Teardrop เป็นผลงานของเขาที่ผมกำลังกล่าวถึง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาเขาได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยว ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในชื่อนิทรรศการ “The Golden Teardrop” ผลงานของเขามีความน่าสนใจดังที่ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ได้กล่าวว่า การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของ อริญชย์ เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในขนบแบบศิลปินไทยส่วนใหญ่ที่ทำงานด้วยวัสดุท้องถิ่น และการใช้ลวดลายในแบบศิลปะประเพณีของกรอบคิดพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง ผลงานศิลปะในมุมมองของสังคมไทยที่สามารถรับรู้ได้ง่ายแบบนี้ มากกว่ารูปแบบของคอนเซปชวลอาร์ต

   ผลงานศิลปะโครงการนี้มีตัวงานที่ใช้สื่อศิลปะมากกว่า 1 ประเภทไม่ใช่งานวาดระบายสีบนพื้นระนาบทั่วไป แต่เป็นงานแบบจัดวาง (Installation) ประติมากรรมทองเหลือง ไม้ เหล็ก ที่ล้วนผ่านการตีความให้คุณค่าในตัววัสดุจากศิลปิน เพื่อสื่อสารความหมายแฝงนัยสู่ผู้ชม นอกจากนั้นยังประกอบด้วยวีดีโออาร์ต ภาพถ่ายและหนังสือประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้งหมดต่างทำหน้าที่สื่อสารต่อผู้ชมให้เกิดการรับรู้ต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อสื่อสารเรื่องราวในประวัติศาสตร์ อาณานิคม การค้าระหว่างประเทศในแถบซีกโลกตะวันตกกับประเทศตะวันออก ผ่านการเล่าเรื่องหลักใหญ่ๆ จากประวัติศาสตร์ “น้ำตาล” ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับสังคมของประเทศในทวีปต่างๆ ศิลปินทำหน้าที่เล่าใหม่ และแสดงให้เห็นการทับซ้อนกันของประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เพราะเขาต้องการบอกว่า เรื่องราวเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่

   งานศิลปะโครงการนี้มีความสำคัญอย่างไร คนดูในประเทศไทยได้รับรู้อะไรและมีผลกระทบอย่างไรกับชีวิต ในขณะที่สังคมไทยขณะนี้ในยุคสมัยการปกครองโดย คสช. ไม่ต้องการให้คนในสังคมตั้งคำถามอะไรมาก ไม่ต้องการให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง “ให้เชื่อ ผู้นำแล้วจะดีเอง”  เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้ที่จะตอบได้คงจะเป็นคนในสังคม ไม่ว่าจะเชื่อสิ่งใดในชุดความรู้อะไรตัวท่านจะทราบเอง ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้เพราะหากจะถามว่า สังคมไทยให้ความสำคัญต่อการรับรู้เรื่องศิลปะร่วมสมัยสำหรับประชาชน และจะเกิดผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างไร เป็นรูปธรรมหรือยัง ผู้เขียนประเมินว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะคนที่ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัย ยังเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดิมถ้าเทียบกับคนในสังคมไทย

  ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากงานของ อริญชย์ “The Making Golden Teardrop” เป็นงานที่ดีรับการสนับสนุนจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้ไปแสดงในนิทรรศการศิลปะ เวนิซ เบียนน่าเล่ (Venice Biennale) ประเทศอิตาลี เป็นเทศกาลศิลปะระดับโลกที่ยาวนานมากกว่า 1 ศตวรรษ ด้วยแนวคิดเรื่อง “อาหาร” ผลงานของเขาจึงสอดคล้องกับแกนความคิดหลักที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องการนำภาพความเป็น “ไทย” เผยแพร่สู่นานาชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัย เนื่องจากงานของเขาก่อนหน้านั้นไม่นาน เขาทำงานศิลปะในโครงการศิลปินใรพำนักของมูลนิธิ ร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) เขาได้นำประเด็นทางประวัติศาสตร์ร่วมของความแตกต่างเชื้อชาติ กับศิลปินผิวดำที่เขาทำงานด้วยกัน คือ “ประวัติศาสตร์ของน้ำตาล”

เหตุใด “น้ำตาล” จึงถูกนำมาเล่าผ่านงานศิลปะร่วมสมัย มันคงเป็นเรื่องน่าฉงนให้กับผู้อ่านและคนดูงานศิลปะสำหรับแนวคิดของเขา แต่แนวคิดเรื่องน้ำตาล ถูกนำมาผูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันกับประวัติศาสตร์ความหวานอันแสนเจ็บปวดของเรื่อง “ทาส” ในยุคที่ตลาดโลกต้องการความ “หวาน” จากน้ำตาล จึงนำมาซึ่งความต้องการแรงงานในการผลิต เพราะเขาต้องการทำงานร่วมกันระหว่างตัวเขากับศิลปินแอฟริกัน “ประวัติศาสตร์น้ำตาล” จึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปินทั้งสองด้วยเรื่องของความหวานและทาส

ปัจจุบันคนในสังคมไทยคุ้นเคยกับน้ำตาลที่บรรจุคู่กับพริกป่นในถุงก๋วยเตี๋ยว เมื่อไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกลับบ้าน จนบางครั้งอาจจะไม่ได้ใส่ใจเห็นค่าของน้ำตาลเลยและอาจจะทิ้งไปดังเช่นผู้เขียนเป็นต้น แต่ในอดีตตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 หลังจากสงครามครูเสด ยุโรปได้รับรู้รสหวานของน้ำตาลจากความรู้ในโลกมุสลิม แต่อย่างไรก็ตามความลับของน้ำตาลมีมาก่อน 8,000 ปีก่อนคริสตกาล “SUGAR” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต คือ “SARKAR” หมายถึง เกล็ดเม็ดเล็กๆ (GRAIN) เมื่อการเจริญขึ้นของการค้าขายระหว่างชาวยุโรปกับชาวตะวันออก น้ำตาลจึงมีมูลค่ามหาศาล เพราะเป็นของที่หายาก คนที่จะมีสิทธิได้กินคือ “ชนชั้นสูงและร่ำรวย” และอีกเหตุผลหนึ่งคือ จำนวนน้ำตาลที่ผลิตออกมามีปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการมหาศาลของชาวยุโรป จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้นายทุนชาวยุโรปและคนชนชั้นสูงผู้มีอำนาจ ต้องออกเสาะหา “น้ำตาล”

ด้วยความต้องการนี้เอง จึงเป็นเหตุผลในการออกหาพื้นที่ เกิดการล่าอาณานิคมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของทาสชาวแอฟริกันและชาวพื้นเมือง ในช่วงศตวรรษที่ 15-16 การล่าอาณานิคมเพื่อประโยชน์ทางการค้ากับการทหารจึงแผ่ขยายทั่วทั้งแอฟริกา อเมริกา เอเชีย หมู่เกาะในเขตแลนติก เพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรต่างๆ “น้ำตาล” ถูกนำมาตีความเป็นงานศิลปะ แต่ไม่ใช่งานศิลปะแบบภาพวาดเพื่อให้คนชมความสวยงามในพื้นที่จัดแสดง หรือพื้นที่ส่วนตัวแต่งานศิลปะที่ศิลปินนำมาตีความใหม่คือ กิจกรรมที่คนดูงานศิลปะสามารถมีส่วนร่วมกับการสร้างผลงานได้ หมายถึง ผู้ชมงานได้ร่วมทำงานศิลปะด้วยการทำ “ขนมทองหยอด” เนื่องจากศิลปินให้คุณค่าตัวผลงานศิลปะกับการผูกเรื่องราวประวัติศาสตร์น้ำตาล การล่าอาณานิคมโดยโปรตุเกส ชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐอเมริกา เด็กผิวสีได้เข้าร่วมกิจกรรม 

อย่างไรก็ตามกิจกรรมศิลปะตามที่กล่าวไว้นั้น ยังคงเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสังคมไทย หากจะนำเอารูปแบบของการจัดแสดงผลงานศิลปะแบบนั้นมาทำในสังคมไทย และคงมีคำถามว่าแล้วจะซื้อจะขายผลงานศิลปะชิ้นนี้ได้อย่างไร เพราะผลงานไม่ได้มีลักษณะเป็นชิ้นเป็นอัน ที่ผู้ซื้อสามารถซื้อไปติดบ้าน ติดภายในอาคารได้ ทั้งนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน The Golden Teardrop เพื่อให้เห็นภาพของการเชื่อมโยงและพัฒนาผลงานให้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น

การตีความประวัติศาสตร์สู่งานสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่า ผลงานทัศนศิลป์ในอดีตเป็นการทำให้เกิดภาพแทนเรื่องเล่า เหตุการณ์แห่งยุคสมัยจากศาสนา พิธีกรรม การสร้างความเป็นชาติ ดังนั้นภาพที่ปรากฏ จึงเป็นภาพที่สร้างจากสิ่งที่ศิลปินถ่ายทอดจากประสบการณ์ของตนเองในแต่ละยุคสมัย หรือมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เท่าที่จะมีความสามารถค้นคว้าได้ให้สอดคล้องกับการเลือกใช้สื่อวัสดุ แทนสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนความหายในเนื้อหาที่นำมาเล่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่เป็นเรื่องง่ายเลยสำหรับการนำเนื้อหาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้วมากกว่า 3 ศตวรรษ มาทำให้เกิดภาพสะท้อนอดีตในขณะที่ศิลปินไม่ทันเห็นเหตุการณ์ แต่หากจะเปรียบเทียบกับงานศิลปะสาขาภาพยนตร์น่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนกว่าและเข้าใจง่ายกว่า เนื่องจากภาพยนตร์ เป็นศิลปะแบบเล่าเรื่อง ลำดับภาพเรียงตามเวลา สร้างภาพจากการศึกษาเอกสารบันทึก ภาพถ่าย ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ตีความ ให้ภาพแทนได้ปรากฏ และต้องทำให้ผู้ชม “เชื่อ” ว่าสิ่งนั้นเป็นจริง แต่สำหรับงานของ   อริญชย์ มีความแตกต่างจากภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าในโครงการชุดนี้มีผลงานวิดีโออาร์ตก็ตาม แต่ว่าเนื้อหาในงานวิดีโอไม่ได้เล่าเรื่องตามวิธีการแบบภาพยนตร์ ตามอย่างที่คนทั่วไปคุ้นเคย เพราะภาพในวิดีโอ เป็นการนำภาพประวัติศาสตร์เรื่องเล่า แบบปะติดปะต่อจากการตีความของศิลปิน เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน กับคนยุคปัจจุบัน

  ประเด็นทางประวัติศาสตร์ในงานของเขามาจากเนื้อหาเหตุการณ์ที่สำคัญในยุคสมัยพระนารายณ์ หรือบางประเด็นมีความสำคัญก่อนหน้านั้น แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ประเด็นที่ศิลปินได้ดึงภาพในอดีตที่ตกตะกอนในห้วงความทรงจำให้กลับมามีชีวิตชีวาในรูปแบบศิลปะทางสาขาทัศนศิลป์ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลก เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาสร้างงานศิลปะ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการเดินทางของเหล่านักแสวงหาสินค้า ทรัพยากรหรือการล่าอาณานิคมระหว่างโลกทั้งสองซีก ที่ถูกแบ่งด้วยผลประโยชน์ของการเข้าครอบครองแผ่นดินจากประเทศที่มีอำนาจทางการเดินเรือ ศาสนาและกองทัพ ในขณะที่ประเทศเป้าหมายมิได้รับรู้อะไร หรือมีผลประโยชน์ร่วมด้วย แต่ต้องตั้งรับการเข้ายึดครองจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่า

ในรายละเอียดของเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่ศิลปินได้นำมาทำให้ตัวผลงานน่าสนใจ แบบการเข้าถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้มองเพียงบุคคลระดับราชวงศ์ แต่กลับมองไปยังบุคคลในระดับสามัญชน ที่สัมพัธ์กับประวัติศาสตร์ราชวงศ์คือ เรื่องเล่าของ คอนสแตนติน ฟอลคอน และ มาริ เดอ กีมาร์ กับเรื่องราวของขนม “ทองหยอด” กับประเทศในโปรตุเกส ประเทศญี่ปุ่น และน้ำตาลเรื่องเล่านี้มีชีวิตชีวา มีอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนมองว่าศิลปินมิได้มุ่งเน้นเพียงการมองแค่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสยาม แต่เป็นการมองสิ่งที่มันเกี่ยวพันกับประเทศอื่นๆ เป็นเนื้อเรื่องขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการนำเนื้อหาทางประวัติศาสตร์นำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ กลับพบว่า ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ ไม่ได้ถูกนำไปสร้างสรรค์ เช่น สาขาภาพยนตร์ที่มีการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของสยาม กลับไม่มีการนำเนื้อหาในยุคที่กล่าวถึงนำไปสร้างเป็นผลงานให้ผู้ชมได้รับรู้ในประเด็นนี้ทั้งๆ ที่เป็นยุคทองของศาสตร์ความรู้ใหม่ๆ ในสยาม สำหรับประเด็นนี้ ดุลยภาค ปรีชารัชช์ ได้กล่าวไว้ว่า ภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์มีเนื้อหาเน้นหนักไปในช่วงการล่มของพระนครศรีอยุธยา การรณรงค์สงครามกับเมียนม่า และทำให้วีรบุรุษ  สามัญชน และเพื่อนบ้านฟากอื่นๆ ถูกทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจจากการรับรู้ของสังคมไทย

สิ่งที่น่าสนใจจากข้อวิเคราะห์ของเขา ได้กล่าวถึงในเรื่อง พระนามที่ทับซ้อนกับพระนารายณ์ เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ที่อาจสร้างความสับสนในการรับรู้เหตุการณ์ทางการทูต อาจจะไม่สนุกเท่ากับฉากสงคราม กู้อิสรภาพ ของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นกษัตริย์ของนักรบ เพื่อสร้างการรับรู้แบบชาตินิยม แต่หากจะมีการสร้างภาพยนตร์หรือละครเวทีเกี่ยวกับการทูต ผู้สร้างภาพยนตร์ มักนิยมเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่ห้า ที่เกี่ยวข้องกับวาตกรรมการเสียดินแดน พระองค์ได้ไปอยู่ที่เมืองลพบุรีมากกว่า ซึ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ท้องถิ่นมากกว่า กษัตริย์อยุธยาที่ถูกใช้เป็นโครงเรื่องหลักในประวัติศาสตร์ชาตินิยม ขณะที่เมืองใหม่ลพบุรีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามทำให้ตัดขาดจากเมืองเก่าสมัยอยุธยา ทำให้ภาพพระนารายณ์เกิดความลักลั่นและขาดความโดดเด่น ประการสำคัญอาจจะมีการตีความว่าพระองค์มีใจโน้มเอียงไปทางต่างชาติ คริสตจักร-มุสลิม ทำให้ไม่เป็นที่พอใจในสายอนุรักษ์นิยม ผู้เขียนจึงมองว่า ผลงานของ อริญชย์ เป็นการเปิดโลกทัศน์ทางการรับรู้ในกรอบคิดแบบทัศนศิลป์และกรอบคิดแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยมให้มาสะท้อนส่องทางซึ่งกันและกัน และเป็นชุดความรู้หลายๆ ชุดนำมาผูกโยงกัน ดังที่ตัวศิลปินเองได้อธิบายถึงตัวงานของเขา ที่มีการนำส่วนประกอบย่อยๆ ของรูปทรงของทองหยอดที่ผลิตจากทองเหลืองเม็ดเล็กๆ นับพัน เป็นของที่เปราะบางและไม่ต้องการให้หาความจริงในตัวงานของเขา ผู้เขียนมองประเด็นนี้ว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเคลือบแคลง ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้บันทึก ดังนั้นผลงานศิลปะไม่ได้ต้องการสร้างคำตอบจากประวัติศาสตร์ว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะใคร แต่ผู้ชมผลงานควรใช้ส่วนประกอบประเด็นที่ปรากฏในงานศิลปะ นำมาตีความอย่างเสรีของแต่ละคน

ถอดรหัส The Golden Teardrop ผลงานชุดนี้ของ อริญชย์ มีความสวยงามในเรื่องของการสร้างรูปทรงประติมากรรมติดตั้ง ที่มาจากการใช้หน่วยเล็กๆ ของรูปทรงหยดน้ำทำจากทองเหลือง เปล่งประกายยามโดนแสงไฟ ประกอบรวมกันมากกว่า 3,000 ลูก จนเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่ ลอยเด่นอยู่กลางห้องจัดแสดง ผลงานของ อรัญชย์ ได้ผ่านกระบวนการออกแบบย่างไม่ต้องสงสัย เพราะตัวผลงานถูกกำหนดสัดส่วนอย่างเป็นระเบียบ และผ่านกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมจากกระบวนการผลิตเครื่องประดับ ไม่ใช่ศิลปะแสดงผลงานแบบสำแดงอารมณ์ อีกทั้งเป็นการเล่นกับสื่อวัสดุที่ท้าทาย เช่น “ทองเหลือง” จนอาจจะทำให้การ...รู้ของผู้ชมไม่ได้มองแค่ว่ามันคือ “ศิลปะ” แต่มองว่าผลงานนั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธ์ ในฐานะของวัสดุที่สื่อไปถึงสัญลักษณ์ความสูงส่ง ของพระพุทธรูปแต่ย้อนแย้งในความเป็นสิ่งของ ที่ผลิตในแบบระบบอุตสาหกรรม การผลิตทีละมากๆ ในระบบทุนนิยม ที่สัญลักษณ์รูปเคารพถูกผลิตเพื่อสนองความต้องการของคนสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในผลงานวิดีโออาร์ตมีภาพของผลิตจิวเวอรี่ แรงงาน คนงานในระบบอุตสาหกรรม เป็นการสะท้อนสังคมในเรื่องของโลกาภิวัตน์  ทุนนิยม และอาณานิคมทางระบบเศรษฐกิจ

ผลงาน “ทรงกลม” ขนาดใหญ่ประกอบขึ้นจากจุดของหยดน้ำหรือหมายถึง “ทองหยอด” ก็ไม่ผิดนักที่กล่าวเช่นนั้น ทำให้การรับรู้ภาพที่มาสามารถเห็นได้ด้วยตา คือ พื้นผิวระนาบที่หายไป ผู้เขียนมองรูปทรงกลมขนาดใหญ่ชิ้นนั้นคือ “ลูกโลก” ผู้ชมสามารถกำหนดจุดเริ่มต้นในการรับรู้มุมใดก็ได้ เพราะมันคือทรงกลม ภาพที่รับรู้อย่างอิสระ เมื่อผู้ชมเลื่อนกายพร้อมๆ กับเพ่งมองไปยังจุดเล็กๆ จนเรียงเป็นเส้น ทำให้เกิดมิติลวงตา เกิดเส้นสายตา จุดรวมสายตาขากช่องว่างระหว่างลูกทองหยอดแต่ละลูก การเรียงลูกทองหยอดทองเหลือง เป็นการเรียงตามเส้นรุ้ง เส้นแวง เพื่อแทนการกำหนดพิกัด การสร้างแผนที่และองค์ความรู้ในเรื่อง “ดาราศาสตร์” ในสมัยพระนารายณ์ แต่ประเด็นนี้ศิลปินไม่เคยพูดถึงในงานของเขา การรับรู้ว่า “โลกกลม” ในยุคพระนารายณ์ มาพร้อมๆ กับการเข้ามาของกลุ่มบาทหลวงนักดาราศาสตร์ ด้วยการที่สยามเปิดกว้างต่อนานาชาติที่เข้ามาในสยาม พระองค์พระราชทานที่ดินในเมืองลพบุรี ให้บาทหลวงนักดาราศาสตร์ชาวยุโรปสร้างหอดูดาว “วัดสันเปาโล” เมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) โดยใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า เพื่อส่งกลับไปยังศูนย์กลางที่หอดูดาวกรุงปารีส รายงานสำรวจเหล่านี้ได้รับการศึกษาวิเคราะห์โดย คาสสินี นักดาราศาสตร์คนสำคัญต่อจาก กาลิเลโอ

 ความรู้เรื่องโลกกลมนำมาซึ่งการแสวงหา เดินทาง เมื่อกาลิเลโอค้นพบความรู้ใหม่นี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงสนับสนุนให้มีการต่อยอดความรู้นี้ เพื่อประโยชน์ในการทำแผนที่โลก ทำให้การเดินทางติดต่อกันได้ทั่วโลก ส่งผลถึงการค้า อำนาจเหนือดินแดน และฝรั่งเศสจะได้เป็นมหาอำนาจโลกก่อนใคร โดยการส่งนักดาราศาสตร์เดินทางมาทำหมุดหมายเลข หลังจากที่กาลิเลโอส่องกล้องวาดภาพดวงจันทร์ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2152 ถึงวันที่พระนารายณ์ ทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่พระที่นั่ง เย็น ทะเลชุบศร คืนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 นับได้ 76 ปี 8 วัน วันเกิดเครือข่ายร่วม 18 คณะ ในที่ต่างๆ เช่น เฮเวลิอุส (ค.ศ. 1611-1687) ที่คานต์ซิก แดสสินี่ กรุงปารีส ครอบครัวซาลวาโก ที่เจนัว เจคอบที่กรุงลิสบอน และบาทหลวงปอล เคลน ที่กรุงมนิลา เป็นต้น

จากประเด็นดังกล่าวผลงานที่แสดงอยู่ตรงหน้า “โลก” ที่ศิลปินได้สร้างขึ้นใหม่ ได้สะท้อนความทรงจำ ความขัดแย้งของความรู้ในท้องถิ่น กับการต่อสู่ความรู้ใหม่ เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 ความเชื่อแบบเดิมว่า โลกแบน ถูกแทนที่จากความเชื่อความรู้ใหม่ ตำราที่ผลิตขึ้นไม่สนใจจะถกเถียงอีกต่อไป ยกเว้นเล่มที่เขียนโดย พระยาเทพศาสตร์สถิต ในปี 2445 (ค.ศ. 1902) ได้เอ่ยถึงเรื่อง ปลาอานนท์แบกโลกเอาไว้

ดังนั้น อริญชย์ ได้ออกแบบโลกจากมโนภาพของตนเองขึ้นมาในภาวะหลังสมัยใหม่ ที่โลกของเขาเป็นเสมือนภาพความทรงจำในอดีตกับสภาวะสมัยใหม่ ที่มนุษย์ต้องการออกแบบได้ เหนือสิ่งที่พระเจ้าได้กำหนด งานของเขาจึงเป็นโลกข้อมูลที่ อริญชย์ นำมาตัดต่อ ร้อยเรื่องราว ทำให้ผู้ชมงานเข้าไปในโลกของข้อมูลในสภาวะของคนๆ หนึ่งที่เชื่อมโยงกับอดีต หมายถึงศิลปินต้องการจะบอกกับคนดูว่า แต่ละคนล้วนเชื่อมโยงเรื่องราวในอดีตเข้าด้วยกันในมิติใดมิติหนึ่ง ผลลัพธ์ที่เกิดจากการสร้างโลกสมัยใหม่ ปรากฏอยู่ในผลงานชุดนี้คือ ความเป็นอาณานิคมของประเทศที่ไม่สามารถต้านทานกองทัพจากประเทศที่มีอำนาจสูงกว่า การเคลื่อนย้ายของคน ระบบทุนเศรษฐกิจและสงคราม เนื้อหาที่กล่าวมานี้ดูราวกับว่าได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เป็นไปดังการหมุนของโลกที่โคจรมา ณ จุดกำหนดเริ่มต้น เกิดการกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นเขตแดนชัดเจน และเกิด “ชาติ” ขึ้นมา

ถึงแม้ว่าโลกที่ อริญชย์ สร้างขึ้นจะไม่มีเส้นเขตแดน บ่งบอกตำแหน่งของประเทศ ทวีป แต่ความทรงจำของภาพผืนแผ่นดิน ผู้ชมต่างอดคิดไม่ได้ว่า เราอยู่ตรงไหน เพราะในอดีตการข้ามแดน ย้ายถิ่นฐานนั้นความเป็นเส้นเขตแดนของภูมิศาสตร์สังคมมนุษย์ได้ข้ามกันเป็นเรื่องธรรมดา มีการย้ายถิ่นฐานของคนหลายเชื้อชาติ หรือไม่สังกัดชาติใดๆ เลยมากขึ้นทุกขณะในลักษณะต่างกัน มีการแต่งงาน การย้ายถิ่นที่ทำงานหรือการถูกบังคับให้โยกย้ายรวมทั้งการถูกให้ออกนอกประเทศ มีการเคลื่อนย้ายไหลไปทั่วโลก ตามอำนาจของทุนและข่าวสาร

ทุนมีการเติบโตใน 200 ปี แรกจากการแบ่งพื้นที่ แบ่งงานกันทำและแบ่งตลาดเป็นเขตๆ จนขณะนี้ทุนเติบโตได้ด้วยการเคลื่อนข้ามเขตการสร้างกำไร ด้วยการเพิ่มขนาดการผลิตและการสร้างวงโคจรการผลิตสินค้าที่ต้องข้ามเขตได้อย่างเสรี ดังนั้นผลงานทั้งวิดีโออาร์ตและภาพถ่าย เป็นการอธิบายให้ผู้ชมได้รับรู ผลที่เกิดจากระบบทุน เช่น ภาพของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นขณะที่เธอกำลังทำขนมทองหยอด เธอได้เล่าเรื่องครอบครัวของเธอ เรื่องประวัติน้ำตาล ... เป็นต้น

   กล่าวโดยสรุปว่า ตัวงานของ อริญยช์ รุ่งแจ้ง ได้ดึงเอาภาพประวัติศาสตร์ในยุคสมัยพระนารายณ์มหาราชและยุคต่อมาจนปัจจุบันมาตีความแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ เรื่องเล่าต่างๆ ยังคงดำเนินซ้ำรอยเดิม เป็นรอยที่มนุษย์ได้สร้างร่องรอยทิ้งไว้ให้คนรุ่งหลังได้กระทำตาม เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการสร้างสรรค์และทำลายใช่หรือไม่ ในขณะที่ผลงานศิลปะร่วมสมัยในแบบที่เขาทำในโครงการศิลปะชุดนี้ น่าจะทำให้การรับรู้ทางด้านศิลปะในสังคมไทยได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกศิลปะได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งศิลปินด้วยกันเอง น่าจะศึกษาความเคลื่อนไหวทางความคิดในการสร้างสรรค์งานไปด้วย เพราะประเด็นที่เขานำมาเล่าไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เรื่องเหล่านั้นมันยังคงดำรงอยู่ เรายังคงเห็นการหนีอพยพของคนในประเทศเมียนม่า แรงงานต่างด้าว การอพยพเคลื่อนย้ายมนุษย์ ทุนนิยมที่ทำให้เราไม่สามารถหลีกหนีสินค้าที่มาจากแหล่งทุนขนาดใหญ่ได้นอกจากผลิตปลูกเอง แม้กระทั่งการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลป์แบบขนบนิยมเดิม การข้ามกรอบวิธีคิดหรือการศึกษาแบบไขว้ทางศาสตร์ระหว่างทัศนศิลป์และประวัติศาสตร์ จากที่กล่าวมานี้เป็นผลจากผลงานศิลปะร่วมสมัยแค่เพียงงานชุดหนึ่งเท่านั้น แต่กลับสามารถกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ได้อย่างเสรีของผู้ชมแต่ละคนได้มากมาย


ดู 127 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page