top of page

วิจารณ์ศิลปะ : นิทรรรศการ bare ตัวเปล่า เล่าเปลือย โดย รุ่งพันธุ์ บุรุษชาติ และศิลปินแห่งชาติ ศิลปิน

ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

“ร่างกายของหญิงสาวคือความงาม” ผมได้รับรู้ประโยคการชื่นชมเรือนร่างเปลือยจากศิลปินชายในการให้เหตุผลที่เขาเหล่านั้นวาดภาพผู้หญิงเปลือยกายไร้อาภรณ์ใดๆปกปิด ภาพเปลือยจากการวาดโดยศิลปินชาย ทำให้เห็นมุมมอง มุมเลือกจะมอง และมุมที่อยากจะมอง ล้วนแล้วแต่มาจากการการให้คุณค่าของร่างกายผู้หญิงเป็นวัตถุที่ถูกมองก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมองแบบไหน มุมใด เป็นสิทธิของผู้ที่จะมองการเปลือยกาย ผ่านวิธีการวาดภาพในกรอบสีเหลี่ยมที่บังคับสายตาให้ผู้ชมได้มอง

    นิทรรศการได้ออกแบบการจัดวางติดตั้งในพื้นผนังของห้องนิทรรศการชั้น 3 ของหอศิลป์ G23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ภาพจำนวนมากถูกจัดเรียงเป็นแนวนอน ไล่เรียงค่อนข้างชิดติดกันอย่างเป็นระเบียบ  ซึ่งแบ่งกันด้วยผนังกลางห้องทำให้มีพื้นที่ทางซ้ายเป็นภาพผลงานศิลปินร่วมแสดงซึ่งมีหลายท่าน ส่วนทางด้านขวาจัดแสดงผลงานของ รุ่งพันธ์ุ โดยภาพทั้งหมดมีขนาด 40x30 เซนติเมตร เกือบทั้งหมดของผลงาน ถึงแม้ว่าผลงานจะวาดขึ้นต่างเวลานับตั้งแต่ปี 2008 - 2018 ซึ่งแสดงให้เห็นความมีวินัยในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินคนนี้ รุ่งพันธ์ุได้ทำงานบนแคนวาสระบายด้วยสีคะคริลิค  สีน้ำมันสีออยพาสเทลเป็นส่วนใหญ่ด้วยการใช้สีสันที่ให้การรับรู้ถึงความเร่าร้อนของแสงและเงาด้วยสีในกลุ่มไปทางสีส้มแดงสอดแทรกด้วยสีฟ้าเขียวจึงทำให้ความจัดจ้านของสีได้ส่งความแรงกระตุ้นให้ผมได้จับจ้องไปยังส่วนโค้งเว้านูนของเรือนร่างในภาพอีกทั้งการขับเน้นด้วยเส้นสายสีเข้มมาทำหน้าที่เน้นให้เกิดการเลื่อนไหลของเส้นเรือนร่างประกอบกับภาพส่วนใหญ่เลือกให้อยู่ในกรอบสีเทาน้ำตาลอ่อนๆไม่แข่งแย่งสีสันของภาพวาดโดยตั้งใจให้เฟรมผ้าใบได้ลอยเด่นบนพื้นกรอบสีดำ

    องค์ประกอบของภาพผู้หญิงเปลือยในผลงานของรุ่งพันธุ์เป็นการเลือกเน้นให้เห็นลำตัวของผู้หญิงในท่านั่งนอนเป็นหลักโดยส่วนใหญ่บางภาพมีศีรษะและใบหน้าแต่ก็ไม่ได้มุ่งเน้นให้เห็นความเหมือนจริงแต่ก็มีหลายๆภาพที่ไม่มีศีรษะไม่มีส่วนน่องลงไปจนถึงเท้าอีกทั้งภาพหลายๆภาพก็เผยถึงความเปลือยให้เห็นอวัยวะเพศอย่างชัดเจนทำให้ผมนึกถึงงานของ Gustave Courbet ศิลปินชาวฝรั่งเศส ในผลงาน The Origin of the World ในปี 1866 ซึ่งเดิมเป็นภาพที่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล แต่แล้วในปัจจุบันนี้ภาพนี้อยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ แล้วภาพนี้ก็สร้างความเคลื่อนไหวให้กับวงการศิลปะอีกครั้งในศตวรรษที่21 เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งได้เดินเข้าไปนั่งหน้าภาพนี้แล้วเปิดเผยเปลือยกายให้เห็นส่วนลับของเธอเช่นเดียวกันเสมือนกับการถามผู้ชมในขณะนั้นในห้องนั้นว่าอะไรคือศิลปะซึ่งผู้ชมที่เห็นก็แน่หล่ะย่อมตกตะลึงกับสิ่งที่เห็นณขณะนั้นแต่ทุกคนก็ปรบมือให้เธอในขณะที่เจ้าหน้าที่มาพยายามปิดการแสดงของเธอ

     สังคมไทยรับรู้ภาพเปลือยแบบเหมือนจริงเมื่อไรหากไม่นับโกษาปานที่ได้เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาที่ได้มีโอกาสเห็นภาพวาดเปลือยในพระราชวังหรืออาจจะที่อื่นๆก็แล้วแต่ผู้เขียนก็ขอประมาณว่าคนไทยได้เห็นภาพเปลือยอีกครั้งก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปเมื่อพ.ศ2440 และ 2450 แล้วได้ทรงซื้อภาพวาดเปลือยกลับมายังประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าสังคมไทย หรือคนทั่วไปคงไม่ได้เห็น แต่เมื่อ อภินันท์ โปษยานนท์ ได้ทำวิจัยและจัดทำหนังสือเรื่อง จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เมื่อประมาณปี พ.ศ.2537 ขณะนั้นผู้เขียนเรียนอยู่ ปวส.2 วิทยาเขตเพาะช่าง ก็ได้ไปซื้อมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่สองเล่ม ราคา 2,500 บาท ถ้าจำไม่ผิด ภายในมีงานจิตรกรรม โดยเฉพาะภาพเปลือยแบบจิตรกรรมตะวันตกอยู่มาก ถ้าหากไม่มีหนังสือหรืองานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์คนไทยทั่วไปคงจะไม่มีโอกาสได้รับรู้อย่างแน่นอน

    การรับรู้ของคนไทยต่อเรื่องภาพเปลือยในช่วง 2490 ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เหมือนกันจากหนังสือสาส์นสมเด็จยังได้เขียนเล่าไว้ว่ามีภาพจากหนังสือพิมพ์เป็นภาพเปลือยในช่วงนั้นสังคมไทยก็ตอบโต้ว่าเป็นเรื่องอนาจารสุดท้ายหนังสือพิมพ์ก็ออกมาอธิบายว่ามันคืองานศิลปะในช่วงเวลานั้นอะไรที่ทันสมัยก็เรียกว่าคือวิทยาศาสตร์ดังนั้นการรับรู้ว่าภาพเปลือยเป็นศิลปะอย่างไรนั้นก็เป็นปัญหาจากการเรียนการสอนศิลปะในบ้านเราอีกนั่นแหละ

    ผมขอกลับมาที่ผลงานของรุ่งพันธ์ุในทัศนะส่วนตัวผมผลงานของรุ่งพันธ์ุแสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนการรวมงานในวัย 60 ปี แต่อย่างไรก็ตามผมมองว่าในเรื่องของการพัฒนาทางความคิด ความลุ่มลึก หรือการพัฒนาทางศิลปะไม่ปรากฏชัด แต่ก็อาจจะเป็นแบบอย่างให้กับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ในการเลือกเส้นทางของการทำงานต่อไป

   ผลงานของศิลปินร่วมแสดงมีมากมายหลากหลายกระบวนการสร้างสรรค์และความลุ่มลึกด้านการตีความกับความหมายของคำว่า “เปลือย” หลายๆคนใช้สัญลักษณ์มาเปรียบเทียบกับผู้หญิงการเปลือยการของผู้หญิงแต่อย่างไรก็ตามการตีความของศิลปินร่วมแสดงโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะยังคงมองว่าผู้หญิงคือความผิดบาปคือสิ่งอันตรายในกรอบคิดของศาสนาโดยเลือกใช้สีสัญลักษณ์แต่ก็มีอยู่มากเหมือนกันที่มองว่าผู้หญิงเปลือยคือความบริสุทธิ์ความอ่อนหวานความโดดเดี่ยวเช่นผลงานของพีระศรีอันยูชื่อผลงานเคลิ้มเป็นภาพสีนำ้มันบนผ้าใบได้แสดงภาพผู้หญิงเปลือยท่อนบนเห็นเนินอกสะโพกเส้นอ่อนหวานแล้วใช้สัญลักษณ์ดอกไม้มาเป็นภาพแทนของความหอมที่มีผึ้งตัวโตบินมาดอมดมความหอมหวานเย้ายวน

   ผลงานของพรุฒมารอดชื่อภาพ Love เทคนิคผสมเป็นงานที่นำเสนอผู้หญิงเปลือยที่ต่างจากคนอื่นๆคือเป็นหญิงอ้วนพียืนอยู่บนหัวกระโหลกซึ่งคือภาพแทนของความตายกับความรัก

   ผลงานของกิติพลศักดิ์ชวาชื่อภาพ Feel Lovely สีน้ำมันบนแคนวาส เป็นภาพหญิงสาวเปลือยครึ่งตัว เห็นเนินนมจากแสงกระทบ แล้วปล่อยทิ้งส่วนเงาให้เป็นสีแดง พื้นหลังของภาพ ทำให้ภาพมีเสน่ห์ น่ามอง แล้วแสดงชั้นเชิงการเล่นองค์ประกอบภาพ

 ผลงานทั้งหมดมีมากมายให้ชื่นชมกรอบภาพของผลงานจากศิลปินหลายๆคนก็สวยดีน่าสนใจเหมาะกับมาดูแบบกรอบเอาไว้ใส่งานของตัวเองครับ


ดู 500 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page