top of page

ใครเคยเห็นหญ้าเทียมมาเป็นปกนิตยสารบ้าง



ในช่วงปี 2006 หรือ พ.ศ.2549 นับว่าเป็นช่วงนิตยสารเกี่ยวกับงานออกแบบในประเทศไทยเฟื่องฟูมาช่วงหนึ่ง ตามหน้าแผงหนังสือเต็มไปด้วยนิตยสารหลากหลายประเภทให้คนไทยได้เลือกอ่านอย่างเพลิดเพลิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบมาทางด้านศิลปะ การออกแบบ ก็ยิ่งมีของให้ดูได้มากกว่ายุคก่อนนั้นนั้น หนึ่งในนิตยสารที่ออกมาแล้วโดนตาโดนใจผมคือ B.A.D ย่อมาจาก Branding Advertising Design

ในตอนนั้นผมสมัครเป็นสมาชิกรายปี เพื่อรับนิตยสารอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุเพราะ B.A.D ทำงานออกมาดีมากใส่ใจรายละเอียด ใส่พลังการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดถ้าเทียบกับนิตยสารฉบับอื่นๆในขณะนั้น จนมาถึงเล่มที่ผมกำลังชวนผู้อ่านได้ร่วมความตื่นเต้นย้อนหลังฝังใจกันไปกับผมคือเล่มนี้ ในฉบับที่ 4 เป็นฉบับที่ทำขึ้นพิเศษด้วยการนำ "หญ้าเทียม" ที่ใช้เป็นพื้นสนามฟุตบอลมาออกแบบให้มีขนาดพอดีกับหน้าปกแล้วพิมพ์สีขาวให้เป็นลายลูกฟุตบอลในช่วงที่กำลังมี ฟุตบอลโลก 2006

มันสร้างความประหลาดใจและต้องร้อง ว้าว ในสมัยนั้นว่า ไอ้คนทำนี่มันช่างกล้าทำ และก็จริงๆครับ เมื่อผมเปิดมันออกมาอ่านอีกครั้งในหน้าบรรณาธิการ ก็พบกับความคิดเห็นของทีมงานว่า พวกเขาต้องการท้าทายและสร้างความแปลกใหม่อย่างที่นิตยสารบนโลกใบนี้เคยทำกันมา ในขณะที่ยุคนั้น น้ำมันราคาพุ่งสูงถึง ลิตรละ 30 บาท ค่ากระดาษแพงขึ้น วงการโฆษณาทำงานออกมาเพื่อหวังการส่งประกวดโดยไม่คำนึงถึง ความเป็นจริงของตัวสินค้า เรียกได้ว่าคนโฆษณาทำงานเพื่อดึงอารมณ์คนดูเป็นหลัก

จากนิตยสารนี้พอสะท้อนอะไรได้อีกหลายมิติถึงสภาวะการในขณะนั้นว่า มันเป็นช่วงสุกงอมของสังคมการเมือง ภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งในประเทศไทย คือ เราเคยเรียนหนังสือประวัติศาสตร์มาใช่ไหมครับว่า ยามบ้านเมืองดี ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ดนตรี มีความรุ่งเรือง นั้นหมายถึง ในช่วงก่อน 2549 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศ จึงไม่แปลกที่มีนิตยสารที่กล้าทำแบบนี้ออกมาในประเทศไทยและโลก แต่นับจาก 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีการรัฐประหารในประเทศไทยโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่นั้นมา วงการนิตยสารมีเกี่ยวกับเนื้อหาศิลปะ การออกแบบ ก็ค่อยๆ หายไปจากหน้าแผงหนังสือ ที่ไม่นับสาเหตุมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต


ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page