top of page
รูปภาพนักเขียนsupachai areerungruang

ข้อคิดเห็นต่อการนำเสนองานวิจัยโครงการวิจารณ์

จากที่ไปฟังนำเสนอวิจัยทางการวิจารณ์ แล้วมาคิดต่อ“ถ้าจะทำวิจัยเรื่องการวิจารณ์ ก็ต้องยอมรับการวิจารณ์ได้” หรือคำกล่าวว่า “ถ้ารักตัวเองเกินไป ก็ไม่ควรจะเป็นนักวิชาการ” เป็นคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ในการประชุมนำเสนอรายงานการวิจัย “ความสำนึกร่วมในพัฒนาการศิลปะและการวิจารณ์ของไทย : หมุดหมายสำคัญในช่วง พ.ศ. 2475-2550 โครงการนี้ทำในช่วง พ.ศ.2561-2563 เป็นชุดโครงการที่ได้ทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 ซึ่งได้ทำงานมาสองทศวรรษแล้วนะครับ ผมในฐานะศิษย์เก่าของโครงการก็ได้เข้าร่วมรับฟังด้วยความตื่นเต้นและภูมิใจไปกับคณะทำงานวิจัยทุทท่านด้วยครับ เพราะงานนี้เป็นการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์สาขาแล้วทำให้เห็นภาพชัดว่า การเกิดขึ้นของผลงานศิลปะแต่ละสาขานั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่เกี่ยวพันกับศิลปะสาขาอื่นๆ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ เหตุการณ์ทางสังคมที่ต้องนำมาร่วมคิดวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน แล้วที่สำคัญต้องกล้าที่จะเสนอความคิดในเชิงวิจารณ์


การนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยจากสาขาต่างๆคือ ภาพยนตร์ ทัศนศิลป์ สังคีตศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ด้วยการแบ่งช่วงเวลาตามลำดับออกเป็นสามหรือสี่ช่วง เช่น พ..2475-2500 เป็นต้น ที่ผมเขียนว่าเป็นต้นก็เพราะว่าแต่ละสาขาได้แบ่งช่วงเวลาไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่ามีเหตุการณ์สิ่งใดสำคัญเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งในโครงการนี้ใช้คำว่า “หมุดหมาย” และรวมไปถึงคำว่า “ความสำนึกร่วม” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนในสังคมโดยเฉพาะศิลปินมีความสำนึกร่วมเหมือนกันเสมอไป เพราะอาจมีศิลปินบางกลุ่ม บางคนที่ไม่ได้คิดร่วมกันเหมือนคนอื่นก็ได้ โดยภาพรวมการแบ่งได้กำหนดหมุดหมายแรกคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าในทางศิลปะเกิดอะไรขึ้นบ้างล่ะ หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2516 และ 2519 หรือช่วง พ.ศ.2535 จนมาถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 โดยทุกโครงการได้นำเสนอสิ่งที่ได้ค้นคว้าจากข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์ โดยมีการใช้ตัวงานศิลปะเป็นหลักฐานในการนำมาวิเคราะห์เพื่อให้ฉายภาพให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นของผมเกี่ยวกับการนำเสนอของทุกสาขา จริงๆแล้วในปรากฏการณ์ของช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สามารถนำเสนอให้เห็นภาพพร้อมๆกันได้ ด้วยการทำภาพประกอบเชิงกราฟิก ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ ตุลาคม พ.ศ.2516 มีผลงานโปสเตอร์ ป้ายคัตเอาท์ จากสาขาทัศนศิลป์ มีบทกวีจากสาขาวรรณศิลป์ มีบทเพลง ภาพยนตร์ และมีผลงานละคอน คงจะสามารถทำให้ผู้เข้าร่วมฟังการนำเสนอได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าศิลปะส่องทางให้แก่กันอย่างไรบ้าง


ในส่วนของสาขาทัศนศิลป์ ได้นำเสนอข้อมูลจากการเริ่มต้นหมุดหมายแรกคือ พ.ศ.2475 โดยมีการกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางทัศนศิลป์ในช่วงก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยมุ่งเน้นไปที่บุคคลคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับผลงานการปั้นอนุสาวรีย์ต่างๆ รวมทั้งผลงานพระพุทธรูปปางลีลาที่พุทธมณฑลในปัจจุบัน แต่ในความเห็นของผมสำหรับการนำเสนอนี้มีอยู่ว่า ผู้วิจัยได้มุ่งเน้นไปที่ อาจารย์ศิลป์ เพียงผู้เดียวจนเกินไป เปรียบเสมือนกับการฉายสปอตไลท์ไปที่จุดเดียว จนทำให้ไม่เห็นคนอื่นๆที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในด้านผลงานทางทัศนศิลป์ที่ส่งผลให้อาจารย์ศิลป์โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งผมมองว่าข้อมูลจากงานเขียนที่มีอยู่ไม่มากเท่าไรนักในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งนักวิชาการต่างชาติที่สนใจงานทัศนศิลป์ในประเทศไทยต่างก็มองไม่เห็นคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน ทีนี้งานวิจัยนี้คงต้องทำหน้าที่ในการวิจารณ์งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์เหล่านั้นด้วยไปพร้อมๆกันด้วยหรือไม่ เนื่องจากผมมองว่าการนำเสนอครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากคนที่เขียนมาแล้วซึ่ง เป็นสิ่งที่ผมก็กังวลเช่นกันครั้งเมื่อเริ่มทำในโครงการนี้ตอนช่วงหมุดหมายแรกว่า ผมจะเขียนตามสิ่งที่ผู้อื่นเขียนหรือไม่ แล้วงานนี้จะเป็นเพียงรวบรวมข้อมูลหรือไม่ แต่อันที่จริงประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่สังคมไทยยังมีข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่นะครับ ในเรื่องของข้อมูลพัฒนาการทางด้านศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย


นอกจากนั้นแล้วประเด็นเรื่องทัศนศิลป์ไทยกับพื้นที่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย ผมหมายถึงพื้นที่ของงานศิลปะไทยแต่เดิมนั้นใช้พื้นที่ผนังในอาคารพุทธศาสนาเป็นพื้นที่สื่อสารระหว่างแนวคิดของรัฐกับภาคประชาชนผ่านพุทธศาสนาอย่างแยบยล เช่นเรื่องของความสำนึกร่วมเกี่ยวกับการรักชาติ ในจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับพระนเรศวรมหาราช ซึ่งวาดขึ้นก่อน พ.ศ.2475 ทำให้ส่งผลต่อความสำนึกเรื่องความรักชาติ การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อปวงชนชาวไทยจนถึงปัจจุบัน และในความเห็นของผม ภาพเหล่านั้นก็ยังส่งผลต่อการสร้างภาพยนตร์ วรรณกรรม เพลงในยุคต่อมาเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้พบว่าในการนำเสนอของสาขาอื่นๆ ได้เน้นเห็นชัดเจนมาก เพียงแต่ขาดการเชื่อมต่อจากงานทัศนศิลป์ ในมุมมองผม ภาพวาดศึกสงครามของกษัตริย์ในอดีตเป็นการสร้างความสำนึกร่วมให้แก่คนในชาติที่ทรงพลัง ซึ่งกลวิธีนี้ก็เป็นวิธีของมนุษย์ทั่วมุมโลกตั้งแต่อดีต


ประเด็นนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่า การนำเสนอมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมผ่านงานประกวดเพียงเท่านั้น จนไม่ได้มองว่าพื้นที่ของงานทัศนศิลป์โดยเฉพาะงานจิตรกรรมนั้น ก็ยังมีพัฒนาการให้เห็นปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังเพียงแต่เราจะหยิบยกขึ้นมา หรือไม่นับรวม ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการก่อตั้งสถาบันการศึกษา นับตั้งแต่สร้างโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ.2456 และมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2486 ทำให้เกิดการเรียนรู้ปรับตัวจากศิลปะแบบประเพณีสู่ศิลปะแบบนานาชาติ ผมขอใช้คำนี้ เพราะศิลปะในประเทศไทยมีรากฐานมาจากสองกลุ่มใหญ่ คือจากจีนและอินเดีย ยังไม่นับรวมญี่ปุ่น เขมร เวียดนาม หรือทางใต้อีกด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างหลักฐานที่ชัดเจนของการผสมผสานในงานทัศนศิลป์ คือ งานของสมเด็จครู ในการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดเบญจมบพิตร หรืองานออกแบบตาลปัตร สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะเกิดมหาวิทยาลัยศิลปากรได้นั้น ประเทศไทยก็มีโรงเรียนเพาะช่างมาแล้ว 30 ปี แต่ว่าในการนำเสนอวันนี้ไม่ได้พูดถึงสถาบันอื่นนอกจาก ม.ศิลปากร ซึ่งในรายงานการวิจัยอาจจะมีเขียนถึงก็ได้นะครับ


ความหมายของพื้นที่ ในที่นี้ยังหมายรวมถึงพื้นที่ที่นอกเหนือจากจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดเช่น ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แล้วยังหมายถึงพื้นที่ที่ไม่ใช่หอศิลป์ แกลลอรี่ อีกด้วย เนื่องจากมีศิลปินที่พยายามบอกว่าสังคมให้ความสำคัญกับคำว่า หอศิลป์ จนเกินไป ทำให้ศิลปินกลุ่มสร้างสรรค์งานผ่านกิจกรรมกับคนในชุมชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีใครอยากเหมารวมเช่นกลุ่มที่ชอบพ่นสีตามกำแพง หรือ กราฟิตี้ เป็นต้น เราจะเรียกว่านี่เป็นงานศิลปะหรือไม่ แล้วนี่เป็นสำนึกร่วมอีกประเภทหนึ่ง หรือคนอีกกลุ่มหนึ่งได้หรือไม่ เราให้ความสำคัญแต่เพียงงานประกวดที่ปรากฏในหน้าสูจิบัตรเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามในตัวผมเองนะครับที่น่าจะนำไปสู่การหาความรู้ในเส้นทางใหม่ได้


งานทัศนศิลป์ที่สามารถเชื่อมโยงกับสาขาศิลปะการแสดงที่มีความสำคัญไม่น้อยคือ การสร้างงานฉาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงที่รัฐใช้ศิลปะการแสดงเป็นสื่อระหว่างประชาชนกับรัฐ งานการออกแบบฉากถูกบรรจุในหลักสูตรของคณะจิตรกรรมฯ ตั้งแต่เริ่มต้นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ก็ไม่พบในการนำเสนองานวิจัยเข่นกัน ทั้งนี้อาจจะมองว่าฉากเป็นเพียงการสร้างโลกทัศน์ในเนื้อเรื่องของการแสดงเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการวาดภาพฉากก็ย่อมจะส่งผลต่อสุนทรียภาพให้กับคนในสังคมยุคการรับวัฒนธรรมความบันเทิงผ่านพื้นที่ที่จำลองขึ้น แล้วสร้างภาพของความรุ่งโรจน์ของท้องพระโรงในจินตนาการ ให้กับคนทั่วไป แล้วน่าจะส่งผลถึงการแสดงลิเก ในยุคแรกๆ ซึ่งสาขาศิลปะการแสดงก็ได้รายงานพัฒนาการเรื่องนี้ไปด้วยเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือ การให้คุณค่างานสร้างสรรค์ด้วยมือมนุษย์ว่าอะไรเป็นงานศิลปะ แล้วอะไรไม่เป็นงานศิลปะ เสมือนกับภาพถ่าย หรือป้ายของการประท้วงในช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง



โดยรวมแล้วอาจารย์สุริยะ ก็มีความพยายามรวบรวมข้อมูลมาสังเคราะห์ให้เราได้รับรู้ไปตามลำดับของเวลาประวัติพัฒนาการของศิลปะโดยมีตัวงานเป็นหลักคิดซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและทุ่มเทมาก นั่นหมายถึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักหรอก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังสำหรับการรวบรวมข้อมูลแล้วเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกชุดความรู้หนึ่งนั้น จะต้องไม่โอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ผู้เขียนต้องตีความ วิเคราะห์ตัวผลงานของศิลปินรวมไปถึงการวิเคราะห์ความคิดของผู้ที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แล้วผู้วิจัยมีความคิดเห็นอย่างไร นั่นคือการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวผลงานศิลปะ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรให้ความรู้กับสังคมที่ขาดแคลนความเข้าใจในด้านสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะสาขาทัศนศิลป์ เพราะงานเขียนประวัติศาสตร์มักจะเขียนยกความดีความงามให้กับบุคคลเพียงคนเดียว ราวเป็นวีรบุรุษที่ไม่สามารถแตะต้องได้จนอาจจะลืมผู้สนับสนุนรายล้อมเหล่านั้นไป รวมทั้งสังคมคงต้องการเรียนรู้ความคิดของผู้สร้างงาน หรือปรากฏการณ์ในอดีตนอกเหนือจากการกล่าวเยินยอถึงความงามในผลงานเพียงอย่างเดียว

ดู 53 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page