"ศิลปินและภัณฑารักษ์ก็ยังคงมีระบบวิธีคิดเป็นการแบ่งแยกชนชั้นอยู่ดีในการเลือกจัดลำดับของบุคคล หากประเด็นของผลงานที่ต้องสื่อสารกับสังคมว่าด้วยเรื่องของ ความเท่าเทียมของคนในสังคมแต่การจัดภาพกลับยังคงเรียงลำดับชนชั้นไล่เรียงมาตั้งแต่ชนชั้นทหาร ข้าราชการ นักวิชาการ ผู้นำที่เป็นเหล่าคนดัง แล้วนำคนที่ไม่ค่อยมีตำแหน่งแห่งที่ หรือสถานะในสังคมไล่ลำดับไปจนอยู่ห้องถัดไป"
ผู้เขียนและถ่ายภาพโดย ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
นิทรรศการศิลปะของ ตะวัน วัถุยา ที่ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนิทรรศการที่เกาะเกี่ยวกระแสแห่งยุคสมัยว่าด้วยแนวคิดการสะท้อนเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนในประเทศไทย
นิทรรศการถูกจัดพื้นที่แสดงด้วยความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ในภาวะโควิดเช่นนี้ ผู้คนที่เดินทางไปดูนิทรรศการน้อยกว่าเมื่อก่อน เจ้าหน้าที่หอศิลป์เชื้อเชิญให้ผมได้เดินขึ้นไปชมงานที่ชั้นสองก่อนแล้วค่อยลงมาดูต่อที่ชั้นล่าง ผมก้าวเท้าไปตามคำเชิญของเธอ พื้นของหอศิลป์เป็นไม้ทำให้เสียงเดินชัดเจนในยามที่ไม่มีใคร ความเงียบงันของสภาพแวดล้อมเป็นใจให้การชมนิทรรศการนี้ได้อรรถรสอย่างแปลกประหลาด ทันทีที่ก้าวเท้าผ่านบันไดขั้นสุดท้าย จนถึงพื้นของชั้นสอง ผมก็เห็นภาพที่จัดแสดงจำนวนสองภาพอยู่ทางผนังซ้าย และขวาของโถงหน้า สองภาพนั้นคือภาพของหนึ่งในผู้นำคณะราษฎร พ.ศ.2475 คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถ้าผมดูไม่ผิดนะครับ เพราะศิลปินดูเหมือนจะจงใจให้ภาพที่ปรากฏไม่ใช่ภาพในแนวศิลปะเหมือนบุคคล หรือจะเรียกว่า ภาพเหมือนจริงก็ได้ คนดูต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการเชื่อมโยงประสบการณ์ความทรงจำรูปร่างของบุคคลที่ตนเคยเห็น เพราะหากให้เด็กที่ไม่เคยรับรู้ประวัติศาสตร์การเมืองมาดูก็คงจะถามว่า “ลุงในรูปนั่นคือใคร” ส่วนภาพทางด้านผนังขวามือ นั่นคือรูปบุคคลที่ดูคล้ายกับ ปรีดี พนมยงค์ ห้องแรกที่เชื้อเชิญให้ผมก้าวเข้าไปสู่โลกของความมืดมิดของสังคม ตามที่ศิลปินใช้ชื่อนิทรรศการว่า KEEP IN THE DARK นั้นได้ทิ้งที่ว่างให้ผม หรืออาจจะเกิดขึ้นกับผู้ชมคนอื่นๆได้รับรู้ก็คือ การเตรียมใจไปหาคนรู้จัก หรือไปทำความรู้จักคนที่ผมไม่รู้จักด้วยภาพวาดบุคคลต่างๆ ในห้องถัดไป อย่างไรก็ตามในห้องแรกนี้โดยส่วนมากในแง่ของการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือตกแต่งภายในนี้คือโถงหน้าห้องที่ยังไม่ใช่ส่วนสำคัญของห้องหลักในอาคาร แต่ศิลปินและภัณฑารักษ์เลือกที่จะให้เป็นห้องจัดแสดงภาพผู้นำ บุคคลสำคัญสูงสุดของกลุ่มบุคคลทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งสำหรับผมแล้วประเด็นนี้น่าสนใจ เดี๋ยวค่อยมาเขียนขมวดปมตอนท้ายแล้วกันครับ
เมื่อกลับมาทางเข้าแกนกลางของทางเข้าหลักเพื่อจะเข้าห้องถัดไป ผมเห็นผนังประจันหน้าผม บนผนังนั้นมีภาพวาดของคนที่สังคมไทยน่าจะรู้จักในนามของ ทนายอานนท์ บนกระดาษสาเยื้อไผ่ ที่ได้ติดตั้งภาพผลงานให้อยู่ในแนวนอนแต่ไม่สอดคล้องกับพื้นผนังของหอศิลป์ที่เต็มไปด้วยกรอบคิ้วบัว คงจะเป็นเพราะการจัดแสดงไม่สามารถไปดัดแปลงกายภาพของหอศิลป์ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์ได้ ผมจึงดูแล้วขัดตาพอสมควรในการจัดแสดง ภาพของทนายอานนท์ถูกจัดวางไว้ทางด้านขวาของภาพ แล้วทิ้งความว่างเปล่าไว้ ผมวิเคราะห์ว่าศิลปินจงใจเพื่อให้เป็นฉากหลัง (Backdrop) ถ่ายภาพสำหรับผู้มาชมนิทรรศการแน่นอน ดูจะเข้ายุคสมัยที่การจัดงานใดๆก็ตามต้องเตรียมมุมไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก ครั้นเมื่อมองไปยังผนังแต่ละด้านของห้องนี้ผมพบภาพดาวเด่นของการเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ ศิลปินจัดระบบลำดับความสำคัญให้ห้องนี้เป็นเสมือนห้องคนดังผู้นำแห่งยุคสมัยในรุ่นเยาวชนและรุ่นใหม่ไฟโชติช่วงแห่งประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าผู้ชมคงจะพอรู้จักบ้างหากติดตามข่าวการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย
ห้องถัดไปคือส่วนในห้องหอศิลป์ เป็นห้องเล็กๆที่มีทางเชื่อมต่อเนื่องกันจนถึงส่วนระเบียงด้านหลัง เป็นภาพของบุคคลต่างๆที่ผมไม่รู้จักซะส่วนมาก ซึ่งมีบ้างที่พอเดาได้ว่าเป็นใครที่ผมรู้จักซึ่งก็เป็นคนในแวดวงวิชาการที่คุ้นเคยกัน นอกนั้นผมไม่รู้จักเลย แต่ก็ไม่เป็นประเด็นสำคัญเท่าไรเพราะผมก็พอจะทราบกระบวนการทำงานของศิลปินมาแล้วบ้าง ผมจึงเดินชมภาพด้วยความไม่ใส่ใจหาความหมายว่า “เขาคือใครกัน” เพราะโดยรวมเขาทั้งหมดนี้ก็คือผู้ที่เป็นคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในสังคมให้อยู่ในระบบและกรอบของประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็นในขณะมีความกดขี่จากอำนาจรัฐอย่างที่เราก็รู้กันอยู่
เมื่อเดินชมชั้นบนหมดแล้ว เจ้าหน้าที่เหมือนตั้งใจมายืนรอผมเพื่อเชิญให้ไปชมนิทรรศการที่ชั้นล่างต่อ ผมก็เดินลงไปจนเข้าห้องแรกของชั้นล่าง ซึ่งเป็นห้องที่มีการอธิบายถึงแนวคิดของศิลปิน กระบวนการทำงาน แต่เนื่องจากผมชอบที่จะดูงานก่อนที่จะไปอ่านรายละเอียดของข้อความบนผนัง ในห้องนี้มีภาพวาดบนกระดาษสาเป็นแนวนอน ขนาดประมาณเท่าแผ่นไม้อัดแผ่นใหญ่ เป็นภาพที่พอจะเดาได้ว่านำมาจากภาพของการประกาศยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดย พลเอก.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแม่ทัพทั้งหมดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งภาพนี้ศิลปินจงใจไม่ให้เป็นภาพเหมือนบุคคลเช่นกัน ดูลางเลือน เป็นภาพขาวดำ เมื่อเดินต่อไปห้องในโถงใหญ่ มีการจัดแสดงด้วยจอภาพยนตร์เป็นการถ่ายทำขณะที่ศิลปินได้วาดภาพบุคคลต่างๆ ทั้งจากริมถนนในที่ชุมนุม หรือในอาคารที่มีแกนนำสำคัญของการชุมนุมทำงานอยู่ ประกอบกับมีภาพวาดพระบรมมหาราชวังที่มองมามุมสนามหลวง โดยมีกำแพงตู้คอนเทนเนอร์มหึมาขวางกั้นราวกับกำแพงเวลาที่ในนั้นหยุดทุกอย่างเอาไว้ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปมากหลายปีแสงแล้ว ผมยืนดูสักพัก ก็กำลังก้าวเท้าออกจากห้องนั้น ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ก็เดินมาบอกว่า มีห้องด้านในอีกห้องหนึ่ง ผมก็เดินไปดูตามคำเชิญของเธอ ห้องนั้นเป็นห้องเล็ก แคบ และมืด โดยมีแสงไฟที่เพดานเพียงดวงเดียว บนผนังทุกด้านมีภาพใบหน้าบุคคลที่ศิลปินเลือกใช้สีหม่น ม่วงคล้ำ ดูราวกับซากศพ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดคือความตั้งใจในการเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ของศิลปินและภัณฑารักษ์
ผมจะขอมองประเด็นของการจัดแสดงผลงานของตะวัน วัตุยา และภัณฑารักษ์ ออกเป็นดังนี้ คือ ๑.การจัดแสดงบนพื้นที่ของหอศิลป์ นิทรรศการนี้ว่าด้วยเรื่องของประเด็นเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนตัวเล็กๆ โดยโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยแรกเริ่มในสังคมไทยคือ พ.ศ.2475 ด้วยการใช้ภาพบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ไปเสียแล้วว่านั่นคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเห็นด้วยกับการเลือกใช้สัญลักษณ์นี้ แต่ผมกลับเห็นความขัดแย้งในการนำเสนอการลำดับ การจัดตำแหน่งของภาพ เพราะศิลปินและภัณฑารักษ์ก็ยังคงมีระบบวิธีคิดเป็นการแบ่งแยกชนชั้นอยู่ดีในการเลือกจัดลำดับของบุคคล หากประเด็นของผลงานที่ต้องสื่อสารกับสังคมว่าด้วยเรื่องของ ความเท่าเทียมของคนในสังคมแต่การจัดภาพกลับยังคงเรียงลำดับชนชั้นไล่เรียงมาตั้งแต่ชนชั้นทหาร ข้าราชการ นักวิชาการ ผู้นำที่เป็นเหล่าคนดัง แล้วนำคนที่ไม่ค่อยมีตำแหน่งแห่งที่ หรือสถานะในสังคมไล่ลำดับไปจนอยู่ห้องถัดไป และห้องถัดไป จนอยู่ขอบของระเบียงสังคม นี่แสดงให้เห็นถึงระบบระเบียบวิธีคิดที่มันเข้าไปฝังอยู่ในชิพสมองของคนไทยไปแล้วหรือเปล่า ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจ ดังนั้นการมองประเด็นของนิทรรศการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภัณฑารักษ์และศิลปินต้องตีความให้รอบด้านและเห็นแก่นของประเด็นให้ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งกันหรือไม่กับสิ่งที่กำลังนำเสนอต่อสังคม
ประเด็นที่ ๒. คือเรื่องการปิดบังซ่อนเร้น แอบแฝงความจริง ประเด็นนี้ผมให้คุณค่าของการแสดงออกทางศิลปะที่ต้องการสื่อสารกับสังคมว่าด้วยเรื่องของประชาธิปไตย ไปที่กลุ่มผู้เรียกร้องที่แสดงออกด้วยสื่อสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ทั้งบนท้องถนน บนสื่อออนไลน์ หรือตามริมฟุตบาทว่า เขาเหล่านั้นช่างมีความกล้าหาญที่ต้องการสื่อตรงไปตรงมา ชัดเจน มากเสียยิ่งกว่าผลงานชุดนี้เสียอีก โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับศิลปะเพื่อประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆก็ได้ เพราะศิลปินทั้งแสดงสด การสื่อสารในที่ชุมนุมคือการแสดงออกที่แท้จริง เขาเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสเข้ามาได้ใช้สิทธิของความเป็นพลเมืองไทยในการจัดแสดงในหอศิลป์แห่งนี้ เขาเหล่านั้นไม่ต้องการเก็บแต้มการแสดงงานเดี่ยวว่าในหน้าประวัติของตนเองแสดงงานมากี่ครั้ง เขาเหล่านั้นควรค่าแก่การนำผลงานมาจัดแสดงให้สังคมไทยได้มองเห็น ได้กระตุ้นย้ำความทรงจำและแตกความคิดซึ่งกันและกัน ดังนั้น การอธิบายว่าการแสดงออกของนิทรรศการครั้งนี้ เปรียบเปรยถึงการบิดเบือนของสังคม การเมือง ด้วยการใช้อุปมาอุปมัยของใบหน้าบุคคล ที่บิดเบี้ยว ลางเลือน อาจจะยิ่งดูขัดแย้ง และไม่สมกับชื่อ ตะวัน ที่มีความหมายถึงความกล้าส่องแสงสว่างอย่างเปิดเผย ไม่หลบมุม หากศิลปินต้องการสื่อสารประเด็นที่ปรากฏในคำอธิบายประกอบการแสดงผลงาน ก็ต้องมีความกล้ากว่านี้
ถึงอย่างไรก็ตาม การแสดงผลงานของ ตะวัน วัถุยา ก็ยังทำให้ผมและอาจจะหมายถึงผู้ชมได้เห็นว่า นิทรรศการศิลปะที่ต้องการสื่อสารทางประเด็นสังคม การเมือง ยังมีพื้นที่ให้ดูได้ชม ได้ ในขณะที่มีนิทรรศการแบบหน่อมแน้มอีกหลายแห่งในเวลานี้ที่กำลังจัดแสดง ทำให้เห็นว่าศิลปะร่วมสมัยมีประเด็นที่น่าสนใจที่ชวนให้คนได้คิด ค้น หา ศึกษา วิเคราะห์เพื่อกระตุ้นสติปัญญา อันนี้ที่จริงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนชอบศิลปะก็ได้นะครับที่ผมอยากเชิญไปดู คนในแวดวงอื่นๆ หมอ ทหาร ยาม คนขับวิน หรือจะอาชีพอะไรก็ได้ครับ ก็น่าไปดูการแสดงศิลปะครั้งนี้ ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ครับ แล้วสิ่งที่ผมชอบอีกประการคือ สูจิบัตรทำเรียบร้อยดีครับ
ผู้เขียนและถ่ายภาพโดย ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
Comments